Sunday, September 27, 2015

Partner Visa จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่จดดีนะ


Partner Visa ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า Spouse Visa เรารู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก Spouse Visa มาเป็น Partner Visa Spouse Visa หมายถึงวีซ่าสำหรับคู่ที่แต่งงานกัน เพราะ Spouse แปลว่าสามีภรรยาที่แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมาย แต่ Partner แปลว่า คู่รัก คู่คิด ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งดูๆแล้ว Partner Visa เป็นอะไรที่ครอบคลุมได้เยอะกว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเฉพาะคู่ที่แต่งงานกันอีกต่อไป ดูๆแล้วมันเหมาะ เข้ากับยุคและสมัยปัจจุบัน เพราะมันหมดสมัยแล้วที่จะคาดหวังให้คน 2 คนแต่งงานกัน

การที่จะทำ Partner Visa ถ้าคนใหนคิดจะจดทะเบียนสมรสก็ OK จดทะเบียนสมรสไป ก็ไม่มีอะไรวุ่นวาย จดทะเบียนสมรสเสร็จก็ทำเรื่องขอ PR ได้เลย

แต่..... ก็อยากให้ลองมอง การจดทะเบียนความสัมพันธ์ หรือ register of relationship กันดูบ้าง เราก็เคยเกริ่นๆเรื่อง register of relationship  เอาไว้นานแล้วรอบหนึ่ง แต่คราวนี้ขออธิบายข้อมูลแบบเจาะลึกไปเลยก็แล้วกัน

การจดทะเบียนความสัมพันธ์ก็เหมือนว่า เราจดทะเบียนเป็นแฟนกัน ซึ่งก็สามารถใช้ได้ทั้งคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน หรือคู่รักต่างเพศ การจดทะเบียนความสัมพันธ์ของแต่ละรัฐก็มีความแตกต่างกันออกไป และก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปด้วย แต่เพื่อความง่าย เราขอเรียกว่า register of relationship ตามรัฐ NSW ไปเลยก็แล้วกัน ง่ายดี

คู่รักถ้าหากยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนความสัมพันธ์ก็เป็นอีกทางออกที่ดีที่สุด นอกเสียจากว่าจะไม่จดอะไรเลย อยู่กันไปเรื่อยๆเป็น de facto relationship ก็ได้

เราอยู่ที่ออสเตรเลียมานาน นานพอที่เห็นชีวิตการแต่งงานของคนรอบข้าง โดยเฉพาะเราทำงานทางด้านกฎหมายด้วยแล้ว เห็นชีวิตคู่ของแต่ละคนที่เข้ามาปรึกษาแล้วแทบทุกรูปแบบ ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า ถ้าหากคู่รักที่รักกันยังไม่มากพอถึงขั้นที่จะตายแทนกันได้หนะ ก็อย่าแต่งเลยดีกว่า มาลองศึกษาการจดทะเบียนความสัมพันธ์กันดูว่า มันก็เป็นอะไรที่คล้ายๆการจดทะเบียนสมรสนั่นแหละ

แต่ถ้าหากใครรักกันหวานชื่น ดูดดื่มอุรา คิดว่าคงได้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรร่วมกัน รักกันชั่วฟ้าดินสลาย ก็แต่งเลยก็ได้นะครับ เราก็ขอแสดงความยินดีด้วย 

ถ้าคิดจะแต่งงานกับใครสักคนก็ต้องคิดให้ดีๆ อย่าแต่งเพราะความมักง่าย ที่คิดว่าอยากได้ ใบกระดาษสักใบเพื่อมาทำวีซ่า เพื่อมาขอ PR เพื่อที่จะได้มาอยู่ที่ออสเตรเลีย หนีความลำบาก หนีความยากจน ขอบอกได้เลยว่าชีวิตที่ออสเตรเลียไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายเสมอไป...

เดี๋ยวเรามาลองเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการจดทะเบียนความสัมพันธ์และการจดทะเบียนสมรสกันนะครับ


การจดทะเบียนสมรส
ข้อดี:
  • ได้เรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า สามี หรือ ภรรยา ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
  • เป็นการทำอะไรที่ถูกต้องตามประเพณี ที่พ่อแม่ต้องการ

ข้อเสีย:
  • ที่ออสเตรเลีย ถ้าเลิกกันแล้ว กว่าจะหย่ากันได้ก็ต้องแยกกันอยู่อย่างต่ำ 12 เดือนก่อน ช่วง 12 เดือนที่แยกกันอยู่ (แต่ยังไม่ได้หย่า) จะทำอะไรก็ลำบาก ติดๆขัดๆไปหมด เพราะยังไม่เป็นอิสระต่อกัน
  • หลังจากที่แยกกันอยู่ได้ 12 เดือนแล้ว ถ้าหากทั้ง 2 ฝ่ายเต็มใจที่จะจดทะเบียนหย่า ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากหย่า หรือตกลงกันไม่ได้ ไม่ยอมเซ็นเอกสารอะไรสักที สุดท้ายก็ต้องฟ้องหย่า และการฟ้องหย่าคนที่ได้เงินเยอะที่สุดก็คือทนาย และ case บาง case ก็ยืดเยื้อกันเป็นปีก็มี



การจดทะเบียนความสัมพันธ์
ข้อดี:
  • มีผลบังคับใช้เหมือนการจดทะเบียนสมรสทุกอย่าง
  • พร้อมเมื่อไหร่ที่จะจดทะเบียนสมรส ก็สามารถไปจดทะเบียนสมรสได้ ไม่มีปัญหาอะไร
  • ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ อยากจะเลิก ก็เก็บข้าวของย้ายออกกันได้เลย
  • ไม่ต้องทำเรื่องหย่า แค่คนใดคนหนึ่งทำเรื่องยกเลิกการจดทะเบียนความสัมพันธ์ กรอกฟอร์มยื่นเข้าไปที่หน่วยงานของรัฐ (เดี๋ยวมีเขียนต่อ) ก็สามารถยกเลิกการจดทะเบียนความสัมพันธ์ได้แล้ว

ข้อเสีย:
  • ก็คงเรียกอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ว่าเป็น สามีหรือภรรยา
  • ประเพณีสมัยเก่าๆอาจจะไม่ยอมรับ (ก็ได้มั๊ง)
นี่ก็เป็นข้อมูลนะครับ ไม่ได้ชี้แนะอะไร เพียงแต่ไม่อยากให้ใครรีบด่วนตัดสินใจอะไรลงไป 

ความรู้... เป็นสิ่งสำคัญนะครับ อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ และขวนขวายหาความรู้กัน จะได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

No comments:

Post a Comment