Saturday, February 27, 2016

Partner Visa ของออสเตรเลีย ตอนที่ 4; มีลูก ติดตามหรือไม่ติดตามดีนะ


เดี๋ยววันนี้เรามาเรียนรู้กันนะครับว่า การที่เรามีลูกติดเนี๊ยะ ไม่ว่าจะยื่นที่ออสเตรเลียแบบ onshore หรือยื่นมาจากข้างนอกประเทศเป็นแบบ offshore แต่ละแบบ แต่ละประเภท การที่เรามีลูกติดแล้ว เราจะยื่นแบบใหน ทำอะไรได้บ้าง

คำว่าลูกติดในที่นี้หมายถึงลูกที่ได้มาจากการมีคู่ครองมาก่อนหน้านี้ และรวมไปถึงลูกบุณธรรมด้วยนะครับ

ลูกติดไม่เกี่ยวอะไรกับกับลูกที่เกิดจากคนที่เขาทำเรื่องสปอนเซอร์ให้เรานะครับ เพราะนั่นเราไม่เรียกว่าลูกติด

ถ้าเราไม่มีลูกติด เราก็สามารถยื่น Partner Visa ได้เลย ทั้งแบบ onshore และ offshore ตามที่เราได้เขียน blog เอาไว้คราวก่อน

แต่ถ้าเรามีลูกติดที่อายุไม่เกิน 25 ปีแล้วอยากจะทำเรื่องสปอนเซอร์ เอาลูกมาอยู่ที่ออสเตรเลียด้วย มันก็สามารถทำได้หลายแบบ หลายวิธีคือ

1. ทำเรื่องพร้อมๆกัน:
ไม่ว่าเราจะยื่นแบบ onshore หรือ offshore ถ้าเราอยากจะทำเรื่องให้ลูกเราไปด้วยพร้อมๆกันกับเราไปเลย เราสามารถทำได้ดังนี้:

  • ถ้าเรายื่นเรื่อง offshore, ลูกเราก็ต้องอยู่ offshore ด้วยเหมือนกัน
  • ถ้าเรายื่นเรื่อง onshore, ลูกเราก็ต้องอยู่ onshore ด้วยเหมือนกัน

แต่ก็มีหลายคนที่เลือกที่จะเอาลูกมาทีหลัง เพราะตัวเองก็คงอยากจะมาปรับตัวก่อน หรืออาจจะได้เหตุผลทางด้านการเงิน หรือกฏหมายการดูแลลูกที่ยังสะสางกับคดีเก่ายังไม่เสร็จก็มี หรือเหตุผลอะไรต่างๆกันออกไป แต่ละคนจะมีเหตุผลที่แตกต่าง

2. ทำเรื่องแยกกัน:
ถ้าหากเราและลูกเลือกที่ทำเรื่องแยกกัน ไม่ว่าเราจะทำเรื่อง Partner Visa แบบ Onshore หรือ Offshore ก็ตามแต่ เราจะสามมารถทำเรื่องเอาลูกเรามาได้ก็ต่อเมื่อ Partner Visa เราผ่าน stage 1 หรือ stage 2 ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า เราต้องได้ TR (Temporary Resident หรือวีซ่าชั่วคราว) หรือ PR (Permanent Resident หรือวีซ่าถาวร) ก่อนเท่านั้น เราถึงจะสามารถทำเรื่องสปอนเซอร์เอาลูกเรามาได้

การทำเรื่องเอาลูกมา หลังจากที่เราได้ TR นั้นจะแตกต่างการทำเรื่องเอาลูกมาหลังจากที่เราได้ PR

2.1 เอาลูกมาหลังจากที่เราได้ TR: เราจะได้ TR หลังจากที่เราทำเรื่อง stage 1 ผ่านแล้ว และเราก็ต้องรอให้ครบกำหนด 2 ปีหลังจากวันที่เรายื่นทำเรื่อง Partner Visa ตั้งแต่แรกเลย เราถึงจะทำ stage 2 เพื่อทำเรื่อง PR ได้ แต่ในระหว่างที่รอนี้ เราก็สามารถทำเรื่องสปอนเซอร์เอาลูกเราเข้ามารวมกันใน application ของ stage 2 (permanent stage) ได้ เราเรียกว่า Dependent Child Visa; Subclass 445

case แบบนี้จะเกิดขึ้นบ่อยในกรณีที่เราทำเรื่อง Partner Visa Onshore แต่ว่าลูกเรายังอยู่ที่เมืองไทย หรืออาจจะประเทศอื่นๆ ก็เอาเป็นว่า ลูกเราอยู่ offshore ก็แล้วกัน เพราะถ้าเรายื่นเรื่อง onshore แต่ลูกเราอยู่ offshore เราไม่สามารถทำเรื่องเอาลูกมาได้เลยตอนที่ยื่นครั้งแรก stage 1

Subclass 445 นี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียคือ:
  • ข้อดีของ Dependent Child Visa; Subclass 445 คือลูกจะได้ PR ไปพร้อมๆกันกับเราเลย ตอนที่เราทำ stage 2, permanent stage
  • ข้อเสียของ Dependent Child Visa; Subclass 445 คือระยะเวลาในการพิจารณา Dependent Child Visa; Subclass 445 ก็นานเหมือนกัน ประมาณ 9-12 เดือน ซึ่งก็หมายความว่า เราเองก็ต้องรอเรื่องของลูกๆให้ผ่าน ให้ได้วีซ่า subclass 445 ก่อน พอลูกๆได้วีซ่า subclass 445 แล้ว เราถึงจะสามารถทำเรื่องของ stage 2 ได้ ไปพร้อมๆกันกับลูกๆเราเลย ซึ่งก็จะทำให้เกิดการล่าช้า แต่ก็มีหลายคนเลือกที่จะรอ เพราะอยากได้ PR ไปพร้อมกันกับลูกเลย

2.2 เอาลูกมาหลังจากที่เราได้ PR: อีกวิธีหนึ่งก็คือ เรารอให้เราได้ PR ก่อน รอให้เรื่องเสร็จทุกอย่างก่อน แล้วค่อยทำเรื่องเราลูกเรามาทีหลัง อาจจะด้วยเหตุผลการทางเงิน หรือว่าความพร้อมของการปรับตัวเข้ากับคนในครอบครัว หรือว่าประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่าง 

วิธีการและขั้นตอนก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่ว่าการทำเรื่องหรือการยื่นเรื่อง เราต้องยื่นให้ถูกประเภท ให้ถูก subclass ก็เป็นพอ

การทำเรื่องเอาลูกมาหลังจากที่เราได้ PR นี้ เราจะต้องสมัคร Child Visa; Subclass 101 

จะสังเกตุว่าชื่อและ subclass ของวีซ่าจะแตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องเลือกและสมัครให้ถูก subclass เพราะ subclass 445 และ subclass 101 นั้น ขั้นตอนและวิธีการสมัครจะไม่เหมือนกัน

หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องมีหลายแบบ หลาย subclass ให้มันซับซ้อนจังเลย

ก็ไม่รู้นะครับ ต้องไปถามอิมมิเกรชั่นเอาเอง... ต้องไปถามคนที่เขาออกกฎหมาย

เอาเป็นว่าให้เรารู้เท่าทัน และเลือกที่จะสมัครและทำเรื่องให้ลูกเราได้ถูกต้องก็เป็นพอ...

Wednesday, February 24, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Australian Partner Visa กับการจดทะเบียนความสัมพันธ์ register of relationship จดที่ใหน อะไร ยังไงดี


มีคนสอบถามเข้ามาเยอะมาก ในเรื่องของการจดทะเบียนความสัมพันธ์ register of relationship เพื่อทำ Partner Visa ไม่ว่าจะเป็นแบบเพศเดียวกันหรือแบบต่างเพศ

อย่างที่เคยเขียนเอาไว้ว่า การจดทะเบียนความสัมพันธ์ register of relationship นั้น ไม่ได้สามารถจดได้ทุกรัฐหรือทุกเขตการปกครองพิเศษ ตอนนี้รัฐและเขตการปกครองพิเศษที่สามารถจดได้ก็จะมีที่ NSW, ACT, VIC, QLD และ TAS เท่านั้น

แต่ละรัฐและเขตการปกครองพิเศษจะมี requirement ที่แตกต่างกันออกไป แต่จากที่เราศึกษาและการเข้าไปสัมนาและเรียนรู้จาก workshop และได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันกับคนที่ทำอาชีพเดียวกันกับเรา เราก็พอจะสรุปได้ว่า รัฐที่ทำ register of relationship ได้ง่ายที่สุดก็คือ NSW

สาเหตุที่ NSW เป็นรัฐที่ทำ register of relationship ได้ง่ายที่สุดก็เพราะว่า:
  • แค่คนใดคนหนึ่งอาศัยอยู่ใน NSW เท่านั้น
  • ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องอาศัยอยู่ที่ NSW นานเท่าไหร่
ดังนั้นหลายๆคู่ที่อยู่ต่างรัฐ หรือต่างเขตการปกครองพิเศษ (territories) อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ถ้าหากเราพักอยู่อาศัยในรัฐนั้นๆ หรือเขตการปกครองพิเศษนั้นๆไม่ได้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด หรือบางคนที่มาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว วิธีที่ง่ายที่สุดคือ มาจด register of relationship ที่ NSW

บางคนอาจจะบอกว่า ไม่มีที่อยู่ที่ NSW หละ จะทำยังไงดี...

ไม่มีที่อยู่ที่ NSW ก็ไม่เป็นไรนะครับ ก็มาพักอาศัยอยู่กับเพื่อนหรือญาติชั่วคราวก็ได้ แล้วก็เปลี่ยนที่อยู่ใน driver license และให้มีบิลอะไรมาบ้านหลังนี้ก็ใช้ได้แล้ว

แล้วถ้ามาแบบไม่รู้จักใครเลย ไม่มีเพื่อน ไม่มีญาติ ไม่รู้จะไปใช้ที่อยู่ใครดี จะทำอะไร ยังไงดี ถ้าเป็นแบบนี้ก็ติดต่อเราได้ 

J Migration Team เราก็มี package ที่จะช่วยเหลือคนที่ต้องการที่มาจด register of relationship ที่ NSW ได้ แต่ก็อย่าลืมว่า ทุกอย่างในชีวิตมันก็ต้องมีการลงทุน

package แบบนี้ มีค่าใช้จ่ายแน่นอน ก็ลองสอบถามกันเข้ามาได้นะครับ เพราะว่าอะไรที่ได้มาง่ายๆ มันก็คงไม่เห็นคุณค่ากัน... มันก็เลยต้องมีค่าใช้จ่าย

Friday, February 19, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Australian Partner Visa กับการมีแฟนที่ขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล


สำหรับคนที่จะทำ Partner Visa ไม่ว่าจะเป็นคู่รักแบบเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม ถ้าหากแฟนเราเขาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล จาก CentreLink ก็คงจะมีบ้างที่เงินช่วยเหลือของเขาอาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่นั่นมันก็เป็นสัจธรรมของชีวิต คนเรามันต้องได้อย่าง เสียอย่างนะครับ

you cannot have both worlds, ดังนั้น กับการที่เราต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างมา มันก็คุ้มค่าไม่ใช่เหรอ ถ้าไม่อยากอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวอุรา มันก็ต้องเลือกที่จะทำอะไรกับชีวิตสักอย่าง

กับการที่เสียบางอย่างไปเพียงแค่เล็กน้อย แล้วได้อะไรมาที่มันคุ้มค่ากว่า นั่นคือคู่ชีวิตเลยนะ ก็อยากให้คนที่ plan จะทำวีซ่า Partner Visa มีการจับเข่าคุยกันนะครับ



อย่ามัวแต่โอ้เอ้ลังเลใจกันอยู่ เพราะการปล่อยเวลาทิ้งไปแต่ละวัน นั่นคือการใช้เวลาที่สูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์

Thursday, February 18, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย จดทะเบียนความสัมพันธ์แล้วจะต่อ Partner Visa ได้มั๊ย


น้อง “B” จาก Sydney โทรมาสอบถามเพราะน้องจดทะเบียนความสัมพันธ์ register of relationship ไปแล้วกับแฟน เมื่อ Oct 2015 ที่ผ่านมา


ตัววีซ่านักเรียนของน้องเองก็ไม่ติด condition 8503, 8534 อะไร
แต่ตัวน้องเองดันเรียนผิดวีซ่า subclass สะด้วยสิ ถือวีซ่า subclass 573 แต่ดันไปเรียน college ของพวก subclass 572 โอกาสที่น้องที่ต่อวีซ่านักเรียนผ่านนั้นบอกได้เลยว่ามีน้อยนิด!!!

น้อง “B” เองก็อยากจะทำ Partner Visa เหมือนกัน แต่เพื่อนๆ หางอึ่ง ทั้งหลายก็คอยเป่าหูว่าอยู่กันยังไม่ถึง 12 เดือน เดี๋ยวอิมมิเกรชั่นจะมองว่าน้อง “B” จงใจมาขายหอยหรือเปล่า

น้อง “B” เองก็ไปปรึกษาอะไรต่อมิอะไรมาแล้วหลายที่แล้ว แต่ไม่มีใครตอบโจทย์ของน้อง “B” ได้สักคน

และน้อง “B” เองก็กลัวว่าวีซ่าของน้องเองจะไม่สวย เพราะมีปัญหาเรื่องวีซ่านักเรียน subclass 573 และ 572 เข้ามาพัวพัน

นี่คือคำตอบของ P’ J:

  • น้องจด register of relationship ตั้งแต่ Oct ตามกฏหมายแล้วก็สามารถยื่น Partner Visa ได้เลย ตั้งแต่ Oct
  • ไม่ต้องกลัวว่าอิมมิเกรชั่นจะกล่าวหาว่าน้อง “B” มาขายหอย เพราะกฏหมายก็คือกฏหมาย เราต้องเอากฏหมายเข้ามากางคุยกัน จะขายหอยหรือเปล่า นั่นมันเรื่องส่วนตัว 
  • พอน้อง “B” ยื่น Partner Visa ปุ๊บ ไอ้ปัญหาเรื่องวีซ่าตัวเก่า จะสวยหรือไม่สวยก็ไม่เกี่ยวแล้วจ๊ะ
  • ดีกว่าจะเอาเงินไปจ่ายค่าเทอมอีก 2 เทอม น้อง “B” เก็บเงินมาทำ Partner Visa ดีกว่า ได้ PR เลย 2 ปี

ก็ปล่อยเพื่อนน้องหางอึ่ง ให้เป็นหางอื่งอีกต่อไป ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงอะไรกับเขา แค่ฟังๆ แล้วก็เดินจากไปก็พอ สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ คิดเสียว่า คนกว่าเราจะได้ดีหนะมีอยู่เยอะแยะ ไม่ต้องไปสนใจ

ศึกษาและเรียนรู้ อย่าเป็นพวก "เพื่อนบอกว่า"

คิดว่า P’ J ตอบโจทย์ทุกข้อของน้อง “B” นะครับ

Wednesday, February 17, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Australian Partner Visa ภาษาของหัวใจ ขวัญกับเรียม กับการจด register of relationship


ขวัญกับเรียมรักกันจริงแต่ไม่หวังแต่ง เพราะขวัญเคยผ่านชีวิตการแต่งงานและมีแปลในใจมาก่อน โถพ่อขวัญของเรียม 

แต่ขวัญเองก็รักเรียมจริงๆ ไม่อยากนอนอ้างว้างคนเดียวอีกต่อไป เรื่องของหัวใจมันอธิบายกันลำบาก ขวัญอยากให้เรียมอยู่ต่อเคียงข้าง เพราะเรียมเองก็ถือวีซ่าท่องเที่ยวมา ไม่ติด condition 8503

ถ้าขวัญรักเรียมจริง ถึงแม้จะไม่หวังแต่ง ถึงแม้จะอยู่ด้วยกันไม่ถึง 12 เดือน ถ้าขวัญอยากให้เรียมอยู่ต่อที่ออสเตรเลีย ขวัญกับเรียมก็คงต้องทำ Partner Visa ($6,865 ไม่ได้ใบ้หวยนะ) ด้วยการจดทะเบียนความสัมพันธ์ register of relationship แล้วหละ 

ขวัญของเรียม….

Tuesday, February 16, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa ภาษาของหัวใจ ขวัญกับเรียม


ความรักมันเป็นภาษาของหัวใจ ภาษาดอกไม้ ภาษาสีชมพูนะ จะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ จะสูงขาวดำเตี้ยอะไรก็ตามแต่ ถ้ามันได้รักกันแล้ว จะแต่งกันปุ๊บปั๊บมันก็ทำกันได้ อิมมิเกรชั่นไม่ได้มองว่าเป็น commercial อะไรยังไง ขอเพียงให้เรารักกันจริง ชั่วฟ้าดินสลาย เหมือนขวัญกับเรียม และสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความรักระหว่าวขวัญกับเรียมนั้น
  • long-term, long-term ในที่นี้คือกะจะอยู่กันยาว ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรนะครับ ไม่ได้เกี่ยวว่าคบกันมานานแล้ว
  • genuine, ขวัญกับเรียมต้องรักกันจริง ไม่ได้จ้างแต่ง
  • continuing, ก็ประมาณว่า ขวัญยังรักเรียมอยู่ ยังไม่หมดรัก พิศวาสยังไม่สิ้น

ถ้าสามารถโชว์ได้ 3 อย่างนี้ ต่อให้เจอกันปุ๊บ รักกันปั๊บ แต่งกันเลยก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหามันจะอยู่ที่ว่า ขวัญกับเรียมจะโชว์เอกสารอะไรได้มั่งเพื่อให้ครบคุณสมบัติของความรักที่แท้จริง ดัง 3 ประการเบื้องต้น

แต่ถ้าเพศเดียวกัน ขวัญกับขวัญ หรือเรียมกับเรียม ก็ต้องจดเป็น register of relationship นะครับ แต่ละรัฐมีความแตกต่างกันออกไป

คู่รักต่างเพศแบบ “ขวัญกับเรียม” ถ้าจะจดทะเบียนแต่งงานกันที่ออสเตรเลียจะต้องมีการ book วันก่อนล่วงหน้านะครับ 30 วันเพราะการ book วันแต่งงานทางหน่วยงานจะมีการ list รายชื่อคู่ที่จะแต่งงาน และจะดูว่าจะมีใครมา object หรือประท้วงหรือเปล่า เพราะไม่ว่าเราหรือเขาอาจมีคู่คดีเก่าที่ยังสะสางปัญหาหัวใจกันยังไม่เสร็จ พิศวาสยังไม่สิ้น ถ้ามีใครมาประท้วงหรือ object การแต่งงาน เราก็ยังแต่งไม่ได้

30 วันก็นานเหมือนกันนะครับ ใครที่วีซ่าใกล้จะหมดก็ต้องมีการเตรียมตัวกันล่วงหน้าด้วยนะครับ

หากคู่รักคู่ใหน ไม่อยากที่จะรอ 30 วันก็สามาถจูงมือถือแขน จุจุ๊บ จุจุ๊บ กันไปจดทะเบียนความสัมพันธ์กัน (register of relationship) ได้เลย เพราะการจด register of relationship ไม่ต้อง book เดินไปจด จ่ายเงิน แล้วเดินออกมาได้เลย

  • การจด register of relationship สามารถทำได้เฉพาะแค่บางรัฐเท่านั้น
  • การจด register of relationship สามารถนำเอาใบเสร็จที่จ่ายตังค์มาขอ Partner Visa แบบ defacto ได้เลย
  • การจด register of relationship สามารถทำได้ทั้งคู่รักเพศเดียวกัน หรือคู่รักต่างเพศ 
  • การจด register of relationship มีข้อดีคือ ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ทั้งคู่ต้องเลิกลากันไป ทั้งคู่ก็แค่เก็บข้าวของ แล้วเดินจากกันไป ไม่ต้องไปทำเรื่องหย่าให้เสียเวลา
  • การจด register of relationship, เราไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันถึง 12 เดือน 

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะรักกันแบบ ขวัญกับเรียม ขวัญกับขวัญ หรือเรียมกับเรียม ก็สามารถจด register of relationship ได้หมดนะครับ


Monday, February 15, 2016

Partner Visa ของออสเตรเลีย ตอนที่ 3


Partner Visa (ไม่รวมวีซ่าคู่หมั้น Prospective Marriage Visa นะครับ) ไม่ว่าจะสมัครแบบ onshore หรือ offshore จะมี 2 stages ด้วยกันคือ

Stage 1: Temporary Stage
Temporary Stage จะเป็น stage แรกของการทำ Partner Visa เหตุผลที่ทางอิมมิเกรชั่นต้องแยก Partner Visa ออกเป็น 2 stages ก็เพราะว่า ทางอิมมิเกรชั่นต้องการพิสูจน์และคอยดูว่าคู่รักที่สมัคร Partner Visa นั้น เป็นคู่รักกันจริงๆ ไม่ใช่คู่รักที่จ้างกันแต่งแบบผิวเผิน ดังนั้นทางอิมมิเกรชั่นจึงจำเป็นที่ต้องมีการรอถึง 2 ปีในการที่จะอนุมัติ Permanent Resident (PR) status ให้กับคู่รักที่สมัครวีซ่าประเภทนี้ 

หลังจากที่ยื่นใบสมัครวีซ่าเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นแบบ onshore หรือ offshore ถ้าทางอิมมิเกรชั่นจะมีการตรวจเช็ค ถ้าหากพบว่าคู่รักคู่นี้เป็นคู่รักกันจริง มีเอกสารประกอบการสมัครครบทุกอย่าง ทางอิมมิเกรชั่นก็จะออกวีซ่าให้ แต่จะเป็นแค่วีซ่าชั่วคราว temporary visa เพื่อที่จะรอให้ครบ 2 ปี เพื่อทางอิมมิเกรชั่นจะรอดูว่า คู่รักคู่นี้ หลังจาก 2 ปี ผ่านไป คู่รักคู่นี้ยังรักกันอยู่หรือเปล่า ซึ่งนั่นก็จะเป็น Stage 2: Permanent Stage.

Temporary visa หรือวีซ่าชั่วคราว ไม่มีวันหมดอายุ ไม่มี expiry date เราก็จะถือวีซ่าชั่วคราวไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะได้ PR

ช่วงที่เราถือวีซ่าชั่วคราวอยู่นี้เราก็สามารถเดินทางเข้าออกประเทศออสเตรเลียได้ ไม่มีกำหนด และเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียด้วย ถ้าหากเรากับคู่รักมีความจำเป็น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางหน้าที่การงานหรือเหตุผลส่วนตัว หรืออยากไปอยู่ที่ประเทศอื่น ก็สามารถทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร

Stage 2: Permanent Stage 
Stage 2 จะเป็น stage สุดท้าย ขั้นตอนสุดท้ายของการสมัคร Partner Visa

หลังจากที่เรายื่น Partner Visa ได้ 2 ปี ทางอิมมิเกรชั่นจะติดต่อเรามาเองว่า ถึงเวลาที่เราต้องทำเรื่อง Stage 2 แล้ว เพื่อเป็นการตรวจเช็คว่า คู่รักยังรักกันดีอยู่หรือเปล่า เพราะหากคู่รักมีการเลิกลากันไป วีซ่าก็จะไม่ผ่าน 

วีซ่าจะผ่านก็ต่อเมื่อคู่รักยังใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ยังคงรักกันเหมือนเดิม

การที่อิมมิเกรชั่นจะติดต่อกลับมาหาเราเพื่อทำเรื่อง Stage 2 นั้น เราก็ต้อง make sure ว่าทางอิมมิเกรชั่นมีที่อยู่ปัจจุบันของเรา และมี email ที่ถูกต้อง เพราะทางอิมมิเกรชั่นจะชอบส่ง email มากกว่าการส่งจดหมาย

โดยเฉพาะคนที่สมัคร Partner Visa แบบ offshore ตอนที่เราสมัคร Partner Visa มารอบแรก ที่อยู่ที่เราใช้อาจจะเป็นที่อยู่ที่เมืองไทย พอเราได้ temporary visa แล้วมาใช้ชีวิตคู่อยู่กับคู่รักของเรา เราก็ต้องมีการแจ้งที่อยู่ใหม่ไปที่อิมมิเกรชั่นด้วย

สำหรับ Stage 2 นี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่รอเรื่องในประเทศออสเตรเลีย เราสามารถเดินทางเข้าออก หรือไปรอเรื่องของเราอยู่ข้างนอกประเทศได้ ไม่มีปัญหาอะไร

คำว่า "คู่รัก" ในที่นี้ เราหมายถึง คู่รักทั้งที่เป็นเพศเดียวกัน และคู่รักต่างเพศนะครับ

หมายเหตุ: ระยะเวลา 2 ปีที่นับ เราเริ่มนับจากวันที่เรายื่นเรื่อง Partner Visa ครั้งแรกเลย ไม่ว่าจะยื่นแบบ onshore หรือ offshore (ระยะเวลา 2 ปี ไม่ได้นับหลังจากที่ได้ temporary visa นะครับ)

Sunday, February 14, 2016

Partner Visa ของออสเตรเลีย มีกี่แบบ มีกี่ประเภท ตอนที่ 2



Partner Visa นั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบแต่งงานหรือแบบ de facto ดังที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วตั้งแต่ "ตอนที่ 1" ว่าสามารถสมัคร Partner Visaได้ทั้ง 2 แบบคือ แบบ onshore ที่สมัครภายในประเทศออสเตรเลีย และแบบ offshore ที่สมัครมาจากนอกประเทศออสเตรเลีย เดี๋ยวเรามาดูความแตกต่างกันครับ

Onshore:
Onshore คือการสมัครวีซ่าภายในประเทศออสเตรเลีย ข้อดีของการสมัครแบบ onshore คือ

  • ผู้สมัครจะได้ Bridging Visa A, สามารถทำงานได้
  • ได้ Medicare card ไปหาหมอและไปโรงพยาบาลของรัฐบาลฟรี
  • สามารถอยู่รอเรื่องข้างในประเทศออสเตรเลียได้ จนกว่าผลวีซ่าจะออก ซึ่งปกติก็จะประมาณ 12-14 เดือนถึงจะได้ case officer

Offshore:
Offshore คือการสมัครวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย การสมัครวีซ่านอกประเทศออสเตรเลียนั้น เราไม่จำเป็นต้องสมัครมาจากเมืองไทยเสมอไป เพราะมีหลายคู่รักที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวมาที่ประเทศออสเตรเลีย คู่รักสามารถสมัครวีซ่าแบบ offshore ได้ด้วยการบินออกไปข้างนอกประเทศออสเตรเลีย คู่รักอาจจะบินไปประเทศนิวซีแลนด์ ฟิจิ บาหลี หรือประเทศอะไรต่างๆก็ว่าไป แล้วก็ทำการสมัคร Partner Visa แบบ offshore แล้วก็บินกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย

การสมัครแบบ offshore ก็มีความแตกต่างจากการสมัคร onshore คือ
  • วันที่วีซ่าออก ผู้สมัครต้องอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย
  • ผู้สมัครจะไม่ได้ Bridging Visa A
  • ผู้สมัครจะไม่ได้ Medicare card
  • ถ้าหากผู้สมัครจากจะมาอยู่กับคู่รักที่ประเทศออสเตรเลีย ก็สามารถมาได้ แต่ก็คงต้องขอวีซ่าอย่างอื่นเข้ามา อย่างเช่น วีซ่าท่องเที่ยวเป็นต้น พอวันที่วีซ่าใกล้จะออก ผู้สมัครก็ต้องเดินทางออกไปนอกประเทศออสเตรเลีย เพื่อรอฟังผลวีซ่า

โดยส่วนตัวแล้ว เราก็แนะนำให้ลูกค้าของ J Migration Team สมัครแบบ onshore เพราะว่ามีข้อดีเยอะแยะ ได้ Medicare card, ได้รอเรื่องอยู่ที่ออสเตรเลีย ไม่ต้องห่างจากคู่รัก ในช่วงที่รอ ก็สามารถทำงานได้ด้วย

แต่การที่เราจะขอ Partner Visa แบบ onshore ได้นั้นเราก็ต้องดู visa condition ของเราก่อนว่าติด condition อะไรหรือเปล่า ถ้าติด condition:
  • 8503: No Further Stay
  • 8534: Further Stay Restricted
เราก็คงต้องบินออกไปสมัครมาจากข้างนอก

condition 8534 จะมีเฉพาะคนที่ถือวีซ่านักเรียนคือ จะสามารถต่อวีซ่า onshore ได้เฉพาะวีซ่านักเรียนเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่เราจะสมัครวีซ่าอะไร เราก็ต้องดูก่อนว่าวีซ่าเราติด condition อะไรหรือเปล่า

สำหรับหลายๆคนที่ถือวีซ่านักเรียนมาแล้วติดวีซ่า condition 8534 ก็สามารถบินกลับไปที่เมืองไทย 3-4 วัน (หรือประเทศใหนก็ได้) แล้วก็สมัคร offshore ได้ เสร็จแล้วก็บินกลับเข้ามา แล้วก็มาเรียนอะไรไปตามปกติของเรา ก็ถือว่าเรียนไปด้วย รอเรื่องวีซ่าของเราไปด้วย ไม่เป็นการเสียเวลา พอวีซ่าใกล้จะออก ทาง case officer ก็จะติดต่อกลับมาเอง บอกให้เอาออกนอกประเทศออสเตรเลียเพื่อทางอิมมิเกรชั่นจะได้ออกวีซ่าให้ได้

Saturday, February 6, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa ของออสเตรเลีย มีกี่แบบ มีกี่ประเภท ตอนที่ 1


เราได้เขียน blog อธิบายความแตกต่างระหว่าง วีซ่าแต่งงานและวีซ่าคู่หมั้นไปแล้ว เดี๋ยว blog นี้เราจะเน้นไปที่วีซ่าแต่งงาน หรือ Partner Visa นะครับ ว่าแต่ละแบบ แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันยังไงบ้าง

Partner Visa นี้สามารถทำได้ทั้งที่แบบแต่งงาน และแบบไม่แต่งงาน ซึ่งเราเรียกกันว่า de facto 

ความสัมพันธ์แบบ de facto สามารถทำได้ทั้งแบบคู่รักเพศเดียวกัน หรือคู่รักต่างเพศ นอกจากนั้นแล้ว de facto ก็ยังแยกออกไปได้อีก 2 ประเภทคือ ทั้งแบบที่อยู่ด้วยกันถึง 12 เดือน และประเภทที่อยู่ด้วยกันไม่ถึง 12 เดือน เดี๋ยวเรามาลองอ่านกันดูคร่าวๆก่อนนะครับว่าแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันยังไง

Partner Visa แบบแต่งงาน
การขอ Partner Visa แบบแต่งงานก็ไม่มีอะไรมาก ถ้ารักกันและอยากจะแต่งงานก็แต่งได้เลย จะแต่งกันมาจากประเทศใหนก็ได้ จะแต่งมาจากต่างประเทศหรือแต่งที่ประเทศออสเตรเลียก็ได้ พอแต่งเสร็จก็ใช้ใบทะเบียนสมรสยื่นทำเรื่อง Partner Visa ได้เลย ก็แค่นั้นเอง

ใบทะเบียนสมรสก็เอาแค่ใบเดียวในการยื่นทำเรื่อง Partner Visa ดังนั้นคู่รักหลายคู่ที่จัดงานแต่งกันหลายที่หลายประเทศ เพื่อให้ญาติๆ พี่น้องได้ร่วมแสดงความยินดีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายนั้น อยากจะจัดงานหลายที่ก็จัดไปเลยครับ แต่จดทะเบียนสมรสแค่ที่เดียวก็พอ

Partner Visa แบบไม่แต่งงาน หรือเราเรียกกันว่า de facto
การขอ Partner Visa อีกแบบหนึ่งก็คือ แบบที่ไม่แต่งงาน หรือเราเรียกกันว่า de facto 

การใช้ชีวิตคู่แบบ de facto นี้ ก็สามารถทำเรื่องขอ Partner Visa ได้ การขอ Partner Visa แบบ de facto นี้ ก็สามารถทำได้ทั้งคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน หรือคู่รักต่างเพศ

การขอ Partner Visa แบบ de facto ก็สามารถทำได้ทั้งแบบอยู่ด้วยกันถึง 12 เดือน และแบบที่อยู่ด้วยกันไม่ถึง 12 เดือน

คู่รักที่อยู่ด้วยกันถึง 12 เดือนก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ขอแค่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อยู่ด้วยกันถึง 12 เดือนจริงก็พอแล้ว สำหรับคู่รักที่ต้องแยกกันอยู่ อาจจะด้วยหน้าที่การงาน หรือเพราะเหตุผลทางวีซ่าบางประการที่เราต้องแยกกันอยู่ก็ไม่เป็นไร เพราะความสัมพันธ์แบบ de facto ไม่ได้บังคับว่าต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป Partner Visa จะดูที่ว่าคู่รักคู่นี้ ตกลงปลงใจ ตกล่องปล่องชิ้น ตัดสินใจที่เดินทางร่วมชีวิตกันยังไง จะอยู่กันไปจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรยังไง ทางอิมมิเกรชั่นจะนับเอาจากวันที่คู่รักตัดสินใจมีความสัมพันธ์แบบ de facto

ความสัมพันธ์แบบ de facto ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบแค่ boyfriend girlfriend ธรรมดา เพราะความสัมพันธ์แบบแค่ boyfriend girlfriend นั่นมันเป็นแค่ช่วงดูใจกันเฉยๆ หรือแบบว่าคบกันเพราะต้องการเพื่อนคู่ใจ

แต่ ความสัมพันธ์แบบ de facto นั้นเป็นการคบกันแบบคู่ชีวิต ไม่ใช่แค่เพื่อนคู่ใจ หรือแค่คู่นอนไปวันๆ

ความสัมพันธ์แบบ de facto ไม่ว่าจะเป็นแบบเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันให้ถึง 12 เดือนเสมอไป เหมือนที่หลายๆคนเข้าใจผิดกัน ทางอิมมิเกรชั่นก็มีข้อยกเว้นให้สำหรับคู่รัก ไม่ว่าจะเป็นแบบเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ที่เลือกที่จะจดทะเบียนความสัมพันธ์แบบ register of relationship ซึ่งเราก็เขียน blog เรื่อง register of relationship เอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ ก็แนะนำให้ทุกคนอ่านกันนะครับ

การจดทะเบียนแบบ register of relationship ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือ อาจจะด้วยเหตุผลส่วนตัว ความพร้อม หรือความไม่พร้อม อะไรหลายๆอย่าง 

การจดทะเบียนแบบ register of relationship สามารถนำเอาเอกสารมาประกอบการขอ Partner Visa ได้

นี่ก็เป็นประเภทของ Partner Visa ที่แตกต่างกันออกไปนะครับ

Monday, February 1, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย ระยะเวลาของการอุทธรณ์วีซ่า กับ AAT


AAT (หรือ MRT เก่า) ก็มีระยะเวลาในการดำเนินเรื่องนะครับ แล้วแต่ subclass แล้วแต่ประเภทของวีซ่าที่ยื่นอุทรณ์เข้าไป

เหตุผลของการยื่นอุทธรณ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยื่นอุทธรณ์เพราะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของอิมมิเกรชั่นจริง ๆ บางคนก็คืออุทรณ์เพื่อซื้อเวลาเฉย ๆ เพราะค่ายื่นอุทรณ์เองก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย

วีซ่าบาง subclass ก็ใช้เวลานานในการตัดสินและดำเนินเรื่อง ดังนั้นการที่เราจ่ายค่ายื่นอุทธรณ์ แล้วเราจะได้อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียต่อ เราสามารถใช้เวลาในระหว่าที่รอทำเรื่องอะไรของเราต่อได้เยอะแยะ เพราะบางคนก็ใช้เวลานี้ในการทำงาน โกบโกยรายได้กัน บางคนก็ใช้เวลานี้ในการอยู่กับคู่รักตัวเอง เพื่อที่จะให้ระยะเวลาในการคบกันให้ถึงเวลาที่กฏหมายกำหนด แล้วจะได้ดำเนินเรื่องวีซ่าอะไรต่อไป อย่างเช่น Partner Visa เป็นต้น

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจากปีที่แล้ว แต่เราก็คิดว่าปีนี้ระยะเวลาของการรอการตัดสินใจก็น่าจะออกมาเหมือน ๆ กัน

นี่เป็นแค่ค่าเฉลี่ย แต่ละ case ก็จะมีระยะเวลาเร็วหรือช้าแตกต่างกันออกไป แนะนำให้ดูกันเป็นแค่แนวทางนะครับ

Bridging Visa: 12 วัน
วีซ่าท่องเที่ยว: 129 วัน
วีซ่านักเรียนที่ไม่ผ่าน: 203 วัน
วีซ่าทำงาน subclass 457: 270 วัน
วีซ่าธุรกิจ: 346 วัน
Skilled Migrant: 312 วัน
Partner Visa: 345 วัน
Family visa: 406 วัน
วีซ่านักเรียนที่ถูกยกเลิก: 144 วัน
Business Sponsor/Nomination, subclass 457, 186, 187: 307 วัน
วีซ่าผู้ลี้ภัย: 400 วัน
อื่นๆ: 103 วัน