Friday, December 23, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa; คบกับแฟนใหม่เกิน 12 เดือน เราหรือแฟนใหม่ ยังไม่ได้หย่ากับ ภรรยา หรือ สามี เก่า


วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa; คบกับแฟนใหม่เกิน 12 เดือน เราหรือแฟนใหม่ ยังไม่ได้หย่ากับ ภรรยา หรือ สามี เก่า

ก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าเราอยู่ด้วยกัน อยู่กินกันเยี่ยงสามีภรรยามาเกิน 12 เดือนแล้ว เราก็สามารถทำ Partner Visa แบบ de facto ได้

แต่ก็ต้องมีหลักฐานว่าเราอยู่ด้วยกันเยี่ยงสามีภรรยามาแล้วเกิน 12 เดือน

หลักฐานก็อาจจะเป็นบิลอะไรต่างๆที่ส่งมาที่อยู่เดียวกัน
หรือไม่ก็พวกบิลอะไรต่างๆที่เป็น joint account ด้วย

ระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันเกิน 12 เดือนเนี๊ยะ ความสัมพันธ์ต้องเป็นแบบ partner นะครับ คือแบบว่าตกล่องปล่องชิ้นกัน คิดว่าจะถือใช้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรด้วยกันแล้ว

ช่วงที่คบๆกัน จีบๆกัน ช่วงนั้นไม่นับ
เพราะว่าช่วงนั้นเราคิดเอาเป็นแค่ว่า boyfriend, girlfriend.... 

ช่วงดูใจ เราไม่นับ
ช่วง dating กันเฉยๆ เราไม่นับ

ไม่ว่าจะเป็นคู่รักแบบใหน ใช้หลักการเดียวกันได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักต่างเพศ หรือคู่รักเพศเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายไม่จำเป็นต้องหย่ากับคู่รักเก่าของเขา

Sunday, December 11, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa; แยกกันอยู่กับสามีออสซี่มาได้ 4 เดือนแล้ว ต่างคนต่างมีแฟนใหม่




ถามมาตอบไป

ถาม:

แยกกันอยู่กับสามีออสซี่มาได้4เดือน แล้วต่างคนต่างมีแฟนใหม่คะ คือตัวเรากลับมาไทยได้ 4 เดือน สามียังอยู่ที่ออสเตรเลียค่ะ


เรายังไม่เคยยื่นขอ Partner Visa เลย กำลังว่ากลับไทยอาจจะยื่นเรื่อง แต่มาเลิกกันเพราะมีเรื่องทะเลาะกัน สามีเค้าอยากกลับไปคบกับภรรยาเก่า เราเองก็มีเพื่อนผู้ชายเป็นชาวจีนที่ได้ TR แล้ว เขาชอบเรามานาน แล้วตอนนี้เราก็ตกลงเป็นแฟนกับเขา

ทีนี้แฟนใหม่เราอยากสปอนเซอร์เรากลับไปออสเตรเลีย แต่ติดที่ว่าเรายังไม่ได้หย่ากับสามี แต่เราแยกกันอยู่มา 4-5 เดือนแล้ว ตั้งแต่ดิฉันกลับมาไทย

อยากทราบว่าแฟนใหม่เราจะสปอนเซอร์เราได้เมื่อไหร่คะ ?

แล้วสมมุติว่าเรารอแยกกันอยู่กับสามีจนครบ 1 ปีแล้วหย่า จากนั้นแฟนใหม่ยื่นเรื่องสปอนเซอร์เลยจะได้ไหมค่ะ?

แล้วเราควรบอกอิมมิเกรชั่นไหมคะ ว่าเริ่มครบกันในช่วงแยกกันอยู่กับสามี?

ตอบ:

  1. แฟนใหม่คงทำเรื่อง sponsor ให้ได้เฉพาะไปเที่ยวเฉยๆ เพราะแฟนใหม่เป็นแค่ TR ไม่ใช่ PR 
  2. ถ้าคบกับแฟนใหม่ อยู่กินกันเยี่ยงสามีภรรยา ไม่ใช่แค่ boyfriend girlfriend, ถ้าอยู่กินกัน ตกล่องปล่องชิ้นเกิน 1 ปี แล้วถ้าตอนนั้นแฟนใหม่ได้ PR แล้ว แฟนใหม่ก็สามารถทำเรื่องสปอนเซอร์เราได้ครับ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหย่ากับสามีหรือแฟนเก่า 
  3. บอกไปตามความเป็นจริงได้ครับ ว่าคบกับแฟนใหม่ตอนที่แยกกับสามี

Friday, November 25, 2016

การต่อ Australian passport เล่มใหม่ แบบง่ายๆ


ตอนนี้การต่อ passport เล่มใหม่ของออสเตรเลียนั้น ง่ายสมัยก่อนมากเลย เพราะตอนนี้อะไรหลายๆอย่างก็ทำเป็นระบบ online หมดแล้ว ไม่ต้องมานั่งเสียเวลากรอกฟอร์มเหมือนสมัยก่อน เพราะถ้าเกิดต้องมานั่งกรอกฟอร์มเหมือนสมัยก่อนแล้ว ต่อให้เราเขียนผิดนิดเดียว เราก็ต้องเริ่มใหม่หมดเลย เพราะว่าฟอร์มการขอ passport ของออสเตรเลียนั้น แบบฟอร์มที่ห้ามมีการขีดดฆ่าใดๆทั้งสิ้น ห้ามใช้ liquid paper ด้วย

ขั้นตอนการต่อพาสปอร์ตใหม่ ง่ายๆ ก็คือ:

1.ไปที่ https://www.passports.gov.au/Pages/home.aspx แล้วก็กรอกข้อมูลออนไลน์ กรอกนิดเดียวเอง ไม่เยอะมาก เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ก็เอามาจาก 
passport เล่มเดิม 

2.print form ออกมาเป็น PDF, แค่แผ่นเดียว

3. เสร็จแล้วก็เอาแบบฟอร์มไปที่ไปรษณีย์ Australia Post แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกไปรษณีย์จะทำเรื่องของ 
passport นะครับ เราก็ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ https://auspost.com.au/ ก่อน เพื่อที่จะเช็คดูว่าไปรษณีย์นี้ ทำเรื่องของ passport หรือเปล่า

4. เอารูปถ่ายหน้าตรง 2 นิ้ว 2 รูปไปด้วย หรือไม่ก็ไปถ่ายที่ไปรษณีย์เลยก็ได้

เราสามารถขอ 
passport แบบเร่งด่วนได้ เราก็จะได้ passport ภายใน 5 วันทำการส่งมาที่บ้านเรา

ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการทำลายและตัด 
passport เล่มเก่าของเราด้วย ซึ่งมีก็เป็นส่วนหนึ่งใน process ของการต่อ passport ออสเตรเลียเล่มใหม่ 

การขอ 
passport ออสเตรเลียแบบเร่งด่วน: AUD$381.00
ถ่ายรูปหน้าตรง 2 นิ้ว: AUD$16.96

Saturday, November 19, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย interesting case study วีซ่านักเรียนแบบติดตาม

วีซ่าออสเตรเลีย interesting case study วีซ่านักเรียนแบบติดตาม


น้องโทรมาจาก Adelaide
น้องต้องการทำวีซ่านักเรียนแบบติดตามให้กับสามี เอเจนท์ที่ Adelaide บอกน้องว่าต้องใช้บัญชีของน้องเท่านั้น 

อยากจะบอกว่า ไม่จริงครับ...

คนที่เป็น partner กัน เราสามารถใช้บัญชีจากทั้ง 2 ฝ่ายนะครับ
คนที่เป็น partner กัน ไม่ว่าจะแต่งงานกันหรือไม่แต่งงานกัน เงินจากทั้ง 2 ฝ่าย ถือว่าเป็นกระเป๋าเดียวกันครับ 

ถ้าเราไม่มีตังค์ในบัญชี เราก็สามารถใช้บัญชีของพ่อกับแม่เราได้ หรือพ่อแม่ของแฟนได้ หรือเอาของทั้ง 2 ฝ่ายมารวมกันได้


ส่วนเอกสารก็ไม่มีอะไรมาก

  • visa grant ของคนที่เป็น main applicant
  • passport ของคนติดตาม
  • หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ (ทะเบียนสมรส, register of relationship certificate หรือหลักฐานว่าอยู่ด้วยกันเกิน 12 เดือน)
  • หลักฐานทางด้านการเงิน ซึ่งเขียนไปแล้วข้างบน
  • ประกันสุขภาพนักเรียนของคนติดตาม

สรุป case ของน้อง เราทำให้ผ่านแล้วเรียบร้อบครับ

Sunday, November 13, 2016

Temporary Activity Visa Framework ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง 19 Nov 2016


มีการเปลี่ยนแปลงของ Temporary Visa ที่กำลังจะเกิดขึ้น 19 Nov 2016 นี้

เหตุผลก็เพื่อจะ streamline และตัดความวุ่นวายของการทำ sponsorship และก็ nomination สำหรับวีซ่าบาง subclass.

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 Nov 2016 เป็นต้นไป

วีซ่าใหม่ หรือวีซ่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลง:
  • Subclass 400 Temporary Work (Short Stay Specialist) Visa
  • Subclass 403 Temporary Work (International Relations)
  • Subclass 407 Training Visa
  • Subclass 408 Temporary Activity Visa

สิ่งที่จะเกิดขึ้น:
  • ยกเลิก 5 visas subclasses; subclass 401, 402, 416, 420 and 488
  • เปลี่ยนแปลงและแก้ไข; subclass 400 & 403
  • สร้างขึ้นใหม่; subclass 408 & 407

เออ แล้วเกี่ยวอะไรกับเรามั๊ย

ไม่ค่อยเกี่ยวนะ

นอกเสียจากว่าเราจะเป็น:
  • คนรับใช้ที่ติดตามพวกทูต (จะสังเกตุว่าเราจะใช้คำว่าทูต ไม่ใช่ท่านทูต J Migration ไม่เชื่อเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ภาพลวงตาและสิ่งหลอกลวง)
  • นักร้อง นักแสดง ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำงานตรงจุดนั้น เป็นคนไม่ชอบกระทบไหล่ใครทั้งนั้น เช่นเดียวกัน มันเป็นแค่ ภาพลวงตาและสิ่งหลอกลวง
  • พวก flight attendant หรือลูกเรือต่างๆ ซึ่งบริษัทเขาก็ทำวีซ่ากันเองอยู่แล้ว
อ้าว…. ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวเท่าไหร่ แล้วออกมาเขียน อะไรทำไม

อ๋อ ออกมาเขียน เพราะมีคนบอกว่า จะไม่มี 457 อีกต่อไปแล้วหลัง 19 November 2016

โถ พ่อคูณ พูดออกมาได้….

ไม่เห็นเกี่ยวกับ 457; Temporary Work Skilled visa เลย

คงเห็นตัวเลข subclass ต่างๆ คงตาลายนะ

เอาหนะ ไม่ว่ากัน... เราให้อภัย

Wednesday, October 19, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่านักเรียนแบบติดตาม


ถาม: "พี่ครับ/ค่ะ ตอนนี้ยังมีวีซ่านักเรียนแบบติดตามอยู่หรือเปล่าครับ/ค่ะ"
ตอบ: "มีครับ"
...
...
งง กับคำถามนิดหนึง ก็วีซ่านักเรียน มันก็เหมือนๆเดิมนะ มีแฟน มีครอบครัว เขาก็ต้องสามารถมากับเราได้สิ

common sense

เพียงแต่ว่า พวกสูเจ้าทั้งหลาย ชอบมองอะไรเป็นการค้า
มองอะไรเป็น commercial ไปหมด

ที่ผ่านๆมา พวกสูเจ้า ชอบแบบว่า เพื่อนแต่งงานให้เพื่อน
เพื่อนติดตามเพื่อน

หลัง 1 July 2016, คนที่ทำวีซ่าติดตามต้องทำ GTE ด้วยจ๊ะ
GTE คือ Genuine Temporary Entry

ก็คือหมายความว่า you ต้องพิสูจน์ ควักหัวใจออกมา เอาออกมาพิสูจน์ ว่าคนนี้ที่เราทำเรื่องติดตามเนี๊ยะ เป็นคนรักเราจริง ไม่ได้แต่งเพราะเรื่องการค้าหรือธุรกิจ

ดังนั้นทางอิมมิเกรชั่นจึงมองเรื่อง relationship ของคนสมัคร ของคนติดตามด้วยความละเอียดอ่อน

ดังนั้นระยะเวลาในการพิจารณามันก็เลยต้องนานเป็นปกติ

และคนสมัครเองก็ต้องเตรียมเอกสารเยอะเป็นอีกเท่าตัว

ถามว่า ยังทำได้มั๊ย
คำตอบง่ายๆ สั้นๆคือ "ได้"

แต่ทำยากมาก ถึงมากที่สุด


ดังนั้นคนใหนที่ยื่นเรื่องไปแล้ว และกำลังรอเรื่องอยู่ ก็ต้องรอต่อไป เพราะ everything take time.... long long time เลยแหละ

ใจเย็นๆกันนะครับ เดี๋ยวก็คงได้แหละ

Tuesday, October 11, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย NAATI หรือไม่ NAATI

เอกสารขอวีซ่าที่ประเทศออสเตรเลีย ทุกอย่างต้องเป็นภาษาอังกฤษ เพราะ case officer เป็นฝรั่ง อ่านภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นเอกสารก็ต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

ที่ออสเตรเลีย เอกสารทุกอย่างต้องแปลด้วย NAATI คือผู้ที่ได้รับการรับรองว่ามีความรู้ ความสามารถ สอบผ่าน NAATI certification และทุกคนจะมีหลายเลขของ NAATI

ถ้าใครอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NAATI ก็เข้าไปที่ website https://naati.com.au นะครับ

คนไทยที่อยู่ที่ออสเตรเลีย เรารู้กันอยู่แล้วว่าเอกสารที่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้น ต้องแปลด้วย NAATI

ที่ออสเตรเลียเองก็มี NAATI เยอะแยะ ที่เขาโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ไทยหรือตาม social media ต่างๆ

แต่ปัญหาของคนไทยที่อยู่ที่เมืองไทยก็คือ ไม่ค่อยมี NAATI เท่าไหร่

ไม่ต้อง worries ไม่ต้อง panic นะครับ
เพราะเราไม่ค่อยมี NAATI ที่เมืองไทย ทางอิมมิเกรชั่นเองก็ flexible enough ให้หน่วยงานที่เมืองไทยสามารถแปลเอกสารได้ ไม่ต้องเป็น NAATI  แต่:
  • คนที่แปลหรือบริษัทที่แปล ต้องมีที่อยู่หรือเบอร์โทรที่ทางอิมมิเกรชั่นที่เมืองไทยสามารถติดต่อได้ ถ้าหากทางอิมมิเกรชั่นที่เมืองไทยต้องการสอบถามข้อมูล
เอกสารดังกล่าวสามารถยื่นได้ที่ออสเตรเลียด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่หรือ case officer ที่ออสเตรเลียต้องการตรวจสอบอะไร ทางเจ้าหน้าที่หรือ case officer ที่ออสเตรเลียจะติดต่อและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตที่เมืองไทยเอง

ดังนั้นเอกสารทุกอย่างสามารถแปลได้จากเมืองไทยครับ

และที่แน่ๆคือ ไม่ต้องเอาไปรับรองที่กระทรวงต่างประเทศ

เราเห็นหลายคนมากที่เอาเอกสารไปรับรองที่กระทรวงต่างประเทศ จริงๆแล้วไม่จำเป็นนะครับ 

เราคิดว่าคนไทยที่ทำๆกันมา ก็แบบว่าทำตามคนอื่น แนะนำกันมาเรื่อยเปื่อย ปากต่อปาก

แต่ถ้าอะไรที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ เราก็ไม่แนะนำให้ทำนะครับ

เสียเวลา!!!

แต่ถ้ามีเวลาเยอะ มีเวลามาก ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็ทำก็ได้นะ เราไม่ได้ห้าม...

Monday, October 10, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa พยานเซ็นฟอร์ม 888


วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa ข้อมูลของพยานที่เซ็นฟอร์ม 888

เราเคยเขียน blog เกี่ยวกับ หลักการกรอกฟอร์ม 888 เพื่อเป็นหลักฐานในการประกอบการสมัคร 
Partner Visa

พยาน 2 คนที่จะต้องเซ็นฟอร์ม 888 จะต้องเป็น PR หรือ citizen เท่านั้นนะครับ

พยานจะเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้ ขอให้เป็น PR หรือ citizen เท่านั้นพอ ไม่ว่าจะหัวดำหรือหัวทอง ถ้าเป็น PR หรือ citizen ก็สามารถเซ็นฟอร์ม 888 ได้หมด

นอกจากให้เค๊าเซ็นฟอร์มให้เราแล้ว เราก็ต้องขอหลักฐานการเป็น PR หรือ citizen ของเค๊าด้วยนะครับ อาจจะเป็น passport, citizenship certificate, birth certificate (บัตร medicare card ใช้ไม่ได้นะครับ เพราะคนที่ไม่ใช่ PR/Citizen ก็สามารถมีบัตร medicare card ได้, driver licence ก็ใช้ไม่ได้ เพราะคนที่ไม่ใช่ PR/Citizen ก็สามารถมี driver licence ได้เหมือนกัน)

Saturday, October 8, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย


คนที่เมืองไทย วาดฝันเอาไว้แบบเวินเวอร์ ว่าชีวิตที่เมืองนอกต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้

OK แหละ เราเข้าใจ สำหรับคนไทยที่ไม่เคยมาเมืองนอก ต่างก็วาดฝันเอาไว้ นั่น นี่ โน่น

จริงอยู่ เงิน dollar มีค่ามากกว่าเงินไทยหลายๆเท่า

แต่... แต่... แต่... แต่...

เงินไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างในชีวิตนะครับ
หลายๆคนก็อาจจะบอกว่า 
"แหม ใช่หละสิ เธอพูดแบบนั้นได้หนิ"

เอ่อ... ก็แค่อยากจะบอกว่า กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ เราผ่านอะไรมาเยอะ
ทั้งคำพูดคำจา และสายตาที่ถากถาง (อาจเป็นเพราะ เด็กกว่า แรงกว่า ขยันกว่า และเป็นคน think outside the box... เอ่อ อันนี้ก็ช่วยไม่ได้นะ)
เราเจอมาหมดแล้ว...
เราให้อภัย!!!

อยู่เมืองนอก หาของกินลำบาก จะกินอะไรแต่ละทีก็ต้องคิดก่อนว่าวันนี้จะกินอะไร 
จะทำธุระแบบรีบๆ ก็ต้องคิด ต้อง plan ว่าจะไปกินที่ใหนดี จะสั่งอะไรจะได้กินแบบไวๆ รีบๆกิน รีบๆไป

ครั้นจะกินพวก junk food มันก็ไม่ healthy

ok... เข้าใจแหละ ว่าหลายๆคนอาจจะคิดว่า เนี๊ยะมันเป็น 1st world problem ในขณะที่ 3rd world ไม่มีอะไรจะกิน

แต่มันก็เป็นแบบนี้จริงๆ!!!

ที่เมืองนอก มันไม่เหมือนเมืองไทย 
ที่เมืองไทย เราขับรถไปตลาด
ไม่ต้องคิด เดี๋ยวเดินๆหา ก็เจออาหาร เจอของกินเอง

อาหารข้างทาง ถ้าไม่กระแดะมาก ที่เมืองไทยของกินเยอะแยะนะครับ
เรากินส้มตำข้างทาง ครกละ 50 บาทเองนะ

ข้าวราดแกงที่สะพานควาย จานละ 30 บาทเองนะ
ใครบอกว่ากรุงเทพของแพง??

ของแพงเพราะเธอไปกินข้าวบนห้างหรือเปล่า

ไม่ต้องขึ้นห้าง ไม่ต้องเวินเวอร์
กินอะไรเข้าไป สุดท้ายแล้ว มันออกมาทางเดียวกันหมด

แล้วทำไม ขวัญกับเรียม ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ขอวีซ่าไปทำงานผ่านพวกเอเจนท์เถื่อน นายหน้าเถื่อน ด้วยหละ

ปล่อยให้เขาหลอก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเปล่า

แต่หาก ขวัญกับเรียม ใช้ชิวิตที่เรียบง่าย อยู่กันแบบพอเพียง
ไม่กู้หนี้ ยืมสิน ขวัญกับเรียม ก็คงไม่ต้องดิ้นรนมาก

จะสังเกตุว่า ขวัญกับเรียม ที่อยากจะมาเมืองนอก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอยากจะหาเงินไปใช้หนี้

คนเราเกิดมา เกิดมาตัวเปล่านะ เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับหนี้
เกิดเป็นคน ทำไม่ต้องสร้างหนี้ด้วย

มีอะไรก็ทำๆไปสิ จำเป็นจะต้องหาภาระ หาหนี้ หาเหามาใส่ตัวด้วยเหรอ

ถ้าเผื่อทำงาน มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท 
มีน้อยใช้น้อย ค่อยบรรจง
คำว่า "หนี้" จะไม่มีอยู่พจนานุกรมของคุณ

"หนี้" มันเป็นแฟชั่นของคนสมัยนี้หรือเปล่านะ
เห็นชอบเป็นกันจัง

ขวัญกับเรียม จะรู้หรือเปล่าว่า มีใครบางคนที่เมืองนอก แอบอิจฉาชีวิตของพวกเขาอยู่นะ

เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม...

Saturday, October 1, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย คุยกับลูกค้าอยู่บนฟ้าเหรอ J Migration Team ทำมาหมดแล้วนะ


กับการทำงาน กับการเดินทางเหรอ
สมัยนี้ทุกอย่างมันทันสมัยแล้วนะ

นั่งอยู่บนเครื่องบินเหรอ บางสายการบินตอนนี้ก็สามารถต่อ wi-fi ได้แล้วบนเครื่องบิน ดังนั้นการนั่งทำงานอยู่บนที่สูง 30,000 feet จากพื้นดินจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

J Migration Team เอง ทำก็ทำมาแล้ว เราก็ภูมิใจที่สามารถนั่งตอบคำถาม หรือไขปัญหาของลูกค้าบางคนมาจากที่สูงเลย

คนอื่นเขามีประสบการณ์
30,000 feet wedding proposal
30,000 feet sex (ใครสนใจอยากจะลองทำ  ก็ลองไปทำกันดูละกัน เขาเรียกกันว่า high mile จ๊ะ)

แต่เรามีประสบการณ์ 30,000 feet consulting with customer
อะนะ อันนี้เจ๋งกว่า...

เราก็ดีใจนะ ว่าเราสามารถทำงานและดูแลลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะเราเข้าใจเสมอว่า เขาคงต้องการคำตอบแหละ เขาถึงติดต่อเรามา เขาถึงมาใช้บริการเรา

ดีใจที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ถึงที่สุด 

J Migration Team
John Paopeng
MARN: 0851174

Friday, September 30, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย 350,000 บาท แล้วได้ PR ไม่มีนะครับ


วีซ่าออสเตรเลียเหรอ จ่าย 350,000 บาทแล้วได้ PR ไม่มีนะครับ

ไปฟังจากใหนมาเอ่ย??

ถ้าเขาบอกว่าได้ PR เลย ก็ต้องถามเขาด้วยนะว่า PR ที่ว่านี้ มัน subclass อะไร เพราะวีซ่าที่ประเทศออสเตรเลียมีทั้งหมดเกือบ 120 subclasses หรือ 120 ชนิดนะครับ

เขามาส่งเราที่สนามบินก็จริง
เขาส่งเรามาลอยแพหรือเปล่า??

คิดกันให้ดีๆนะครับ

350,000 บาทแล้วได้ PR เหรอ... ไม่มีนะครับ
เพราะถ้าเป็นพวกวีซ่าที่จ่ายตังค์แล้วได้ PR นั้น เราเรียกกันว่า SIV; Significant Investor Visa คือวีซ่านักลงทุน

SIV เป็นอะไรที่ใช้เงินลงทุนสูง
ต้องเอาเงินมาลงทุนและฝากเอาไว้กับหน่วยงานที่รัฐบาลรับรอง และต้องฝากหรือลงทุนเป็นจำนวนเงิน AUD $5,000,000 นะครับ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นเงินไทยเท่าไหร่ ก็ลองเอาอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันคูณเข้าไปดูนะครับ

350,000 บาทไทย แตกต่างกันลิบลับกับ AUD $5,000,000 นะครับ
ลองเอาเครื่องคิดเลขมาจิ้มดู

ถ้าเขาบอกว่ารู้จักกันกับคนไทยที่อยู่ที่ออสเตรเลีย

เอ่อ.... รู้จักแล้วไงเหรอ
รู้จักแล้วช่วยอะไรได้ ไม่เห็นเกี่ยวเลย

ถ้าบอกว่าเปิดบริษัทถูกต้อง จดทะเบียนถูกต้อง
เอ่อ... เปิดบริษัทแล้วไงเหรอ มันก็แค่กระดาษแผ่นเดียว หมู หมา กา ไก่ ตาสี ตาสา ที่ใหนก็เปิดบริษัทได้ 

ถ้าจ่าย 350,000 บาทแล้วได้ PR ที่ออสเตรเลียเลย
ป่านนี้ ขวัญกับเรียม ก็คงเลิกไถนา แล้วขอ PR มาอยู่ออสเตรเลียกันแล้วสิ

อ้าว... แล้วตำนานรักของขวัญกับเรียม ก็คงจะไม่มีอีกต่อไปแล้วสิ

ไม่นะ... อย่าเอาขวัญกับเรียมของเราไปนะ
ให้ขวัญกับเรียม เขารักกันอยู่ที่บ้านนา เมืองไทยแหละดีแล้ว

ข้อมูลทุกอย่าง ศึกษา รู้เท่าทันนะครับ

Tuesday, September 27, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่าท่องเที่ยว มาทำงานในฟาร์ม อย่าตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ


มีคนสอบถามเข้ามาจากเมืองไทย เรื่องของเอกสารในการขอวีซ่าท่องเที่ยวไปประเทศออสเตรเลีย

เขาบอกเราว่า มีคนจะทำวีซ่าท่องเที่ยวให้เขา ด้วยราคา 250,000 บาท เป็นวีซ่าท่องเที่ยว เพื่อไปทำงานในฟาร์ม

อีกแล้วเหรอเนี๊ยะ...

ก็เข้าใจนะครับ ว่าหลายๆคนอยากจะมาที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ไม่ใช่แบบว่า อยากมาจนตัวสั่น

จริงๆแล้วชีวิตการทำงานในฟาร์มมันก็ไม่ได้เลิศหรูอะไรนะ ถึงแม้ว่าเราเองจะยังไม่เคยไปทำอะไรแบบนั้น แต่ก็ได้มีโอกาสขับรถพาน้องคนไทยไปเก็บ  Cherry ที่ Young, NSW.... แล้วคุณจะรู้ว่า "นรก หนะมีจริง" จ๊ะ

และก็อยากจะบอกเหรอเกินว่า
  • วีซ่าท่องเที่ยวไม่สามารถทำงานได้
  • จ่ายเขาไป (ใครก็ไม่รู้) 250,000 บาท แล้วจะรู้ได้ไงว่าวีซ่าเราจะผ่าน

จากการคาดเดา  using professional judgement  เราคาดว่า 99.99% น่าจะโดนหลอกนะครับ

ศึกษา รู้เท่าทันนะครับ
อย่าตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ

Monday, September 26, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่า subclass 186, วีซ่า subclass 187 พนักงานต้องทำงานต่อให้กับนายจ้างอย่างน้อย 2 ปี




เป็นคำถามยอดฮิตจากหลายๆคนว่า หลังจากที่เราได้ PR ด้วย วีซ่า subclass 186, subclass 187 จากนายจ้างแล้ว เราจำเป็นต้องทำงานหรืออยู่ต่อให้กับนายจ้างอีกต่อไปหรือเปล่า 

คำตอบก็คือ เราต้องทำงานหรืออยู่ต่อให้กับนายจ้างคนที่ทำเรื่องสปอนเซอร์ให้เราอย่างน้อย 2 ปี

เพราะว่าตอนที่นายจ้างทำเรื่องสมัคร stage 1 ของ Nomination, นายจ้างเองก็ต้องให้ข้อมูลกับทางอิมมิเกรชั่นว่า นายจ้างนั้นมีงานรองรับให้กับพนักงาน อย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี (สามารถดูได้จาก screen capture ที่เราทำมาให้ดูนะครับ)

ในขณะเดียวกัน ตอนที่ตัวคนสมัครเอง ทำเรื่องสมัคร stage 2 Visa Application, คนสมัครก็ต้องบอกว่าจะทำงานให้กับนายจ้างนี้เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 2 ปี (สามารถดูได้จาก screen capture ที่เราทำมาให้ดูนะครับ)

ดังนั้นพนักงานหรือลูกจ้างคนใหนที่คิดจะลาออกหรือเลิกทำงานกับนายจ้าง หลังจากที่ได้ PR แล้ว เราแนะนำให้ลองคิดดูใหม่นะครับ

ส่วนนายจ้างเองที่กังวลว่าพนักงานจะลาออกหลังจากที่เขาได้ PR นั้น ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไปนะครับ

เราก็แนะนำให้ทั้งพนักงานและนายจ้าง นำเอาความรู้นี้ไป แล้วก็นั่งจับเข่าคุยกันนะครับ

จะคิด จะทำอะไรก็ตามแต่ เราอยากให้ทุกๆฝ่าย ได้เป็นประโยชน์ และเป็นอะไรที่ win-win ด้วยกันทั้งคู่

Sunday, September 18, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย visa subclass 457 สามารถต่อได้เรื่อยๆ




วีซ่า subclass 457 หรือวีซ่าที่มีนายจ้างสปอนเซอร์นั้น ถ้าหากเมื่อครบเวลาที่ต้องขอ PR แล้ว แต่คุณสมบัติของเรายังไม่พร้อม เราก็สามารถต่อวีซ่า subclass 457 ไปได้เรื่อยเรื่อยๆทุก 4 ปี ไม่มีกำหนดหมด


เราอาจจะมีเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ หรือองค์ประกอบหลายๆอย่าง ที่ทำให้เราไม่สามารถขอ PR ได้

อย่างเช่นถ้าหากเรามีการเปลี่ยนนายจ้างเราก็ต้องมาเริ่มนับ 0 ใหม่

ตราบใดที่คุณสมบัติของการขอวีซ่า subclass 457 ของเรายังครบอยู่ เราก็ยังสามารถที่จะต่อวีซ่า subclass 457 ไปได้เรื่อยๆ

แต่เราก็ต้อง make sure นะครับว่า เราขอวีซ่า subclass 457 ก่อนที่วีซ่าตัวเก่าของเราจะหมด เพราะมีหลายคนเข้าใจว่า หลังจาก visa หมดแล้วเขามีเวลา 90 วันในการที่จะหานายจ้างใหม่ อันนี้คนเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะว่าถ้าเกิดวีซ่าเราหมดแล้วก็คือหมดเลย

ที่บอกว่าสามารถหานายจ้างใหม่ได้ภายใน 90 วันนั้นคือ เราต้องหานายจ้างใหม่หรือเปลี่ยน nomination (stage 2) ภายใน 90 วัน ในขณะที่วีซ่า subclass 457 ของเรายังมีอยู่ ดังนั้นต้องระวังกันตรงจุดนี้ด้วยนะครับ เพราะเราไม่อยากให้ใครวีซ่าขาดโดยที่ไม่จำเป็น

Friday, September 16, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่าขาด โดนแบน เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยน passport ไม่แนะนำ


สำหรับคนที่วีซ่าขาดนะครับ ก็มีคนติดต่อสอบถามเข้ามาว่า ถ้าเผื่อวีซ่าขาดแล้ว โดนแบน 3 ปี ถ้ากลับไปเมืองไทยแล้วไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยน passport หรือเปลี่ยนการสะกดชื่อ แบบนี้จะสามารถกลับมาได้อีกไหม

ก่อนอื่นเลยนะครับ เราอยากจะบอกว่า เราไม่แนะนำให้ทำอะไรแบบนี้

เพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะนี่มันเข้าข่ายตั้งใจที่จะหลอกลวง หรือให้ข้อมูลผิดๆ ให้กับ immigration ถ้าโดนจับได้ ก็จะโดนข้อหา PIC 4020 (Public Interest Criteria) โดนแบน 3 ปีอยู่ดี หนักเข้าไปใหญ่

ดังนั้นเราไม่แนะนำนะครับ

เพราะต่อให้เราไปเปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนวิธีการสะกดชื่อภาษาอังกฤษ 

อย่าลืมนะครับว่านายแบบฟอร์มของ immigration ทุกแบบฟอร์มเลยไม่ว่าจะเป็นแบบ online หรือ paper-based มันจะมีคำถามอยู่หนึ่งคำถามว่าคุณเคยเปลี่ยนชื่อ หรือเคยใช้ชื่ออื่นมาก่อนหรือเปล่า ถ้าเราบอกว่าไม่เคย ก็เหมือนเป็นการจงใจที่จะโกหก หลอกลวง หรือให้ข้อมูลที่ผิดๆ ถ้าโดนจับได้ ก็จะโดนข้อหา PIC 4020 โดนแบน 3 ปีอยู่ดี

ดังนั้นเราไม่แนะนำนะครับ

ที่เมืองไทยเองก็มีการทำ finger print, finger scan ต่อให้เรามีการเปลี่ยนชื่อเราก็ไม่สามารถเปลี่ยน finger print รอยนิ้วมือเราได้ นอกเสียจากในหนัง!!!

กฎหมายมีเอาไว้เพื่อจัดระเบียบสังคมนะครับ
กฎหมายไม่ได้มีเอาไว้ให้เราแหกกฎ

ถ้าเราทำอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชีวิตเราก็จะไม่วุ่นวายนะครับ

เราแนะนำให้ทำอะไรให้มันถูกต้องมากกว่า จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวทีหลัง

Wednesday, September 14, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa รักแรกพบ


Partner Visa หรือวีซ่าสำหรับคู่รักนั้น เรื่องราวของความรักและความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ไม่เหมือนกัน

บางคนพบรักกัน online
บางคนพบรักกันที่ร้านอาหารพวก fast food
บางคนพบรักเพราะนั่งทานข้าวที่ร้านอาหาร นั่งโต๊ะข้างๆกัน ก็เลยได้คุยกัน
บางคนพบรักบนรถบัส
บางคนรักกันตั้งแต่สมัยเรียน
บางคนพบรักกันที่ทำงาน
บางคนพบรักเพราะฝนตก เดินข้ามถนนแล้วมีคนเอาร่มมาให้ 

เหมือนในหนัง ยังไงยังงั้น...

เป็นไงหละ ความรัก ความสัมพันธ์ และเรื่องราวของแต่ละคู่ แต่ละคน ไม่เหมือนใคร และเราไม่จำเป็นต้องให้ใครมาเหมือน

ดังนั้น เราไม่ต้อง worries ว่า เอ๊ะ คู่รักเราเป็นแบบนี้ 
เราเจอกันแบบนี้
case officer จะเชื่อเราหรือเปล่านะ

ขอให้ทุกอย่างเป็นความจริง เป็นความรักที่มั่นคง เป็นรักจริง ไม่ใช่พวกจ้างแต่ง ทุกอย่างก็ OK แล้วครับ

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa, $1 เดียว ก็เสียวได้


สำหรับ Partner Visa แล้ว มีหลายคนสงสัยในเรื่องของการเงินและ bank statement ทั้งของตัวเองและของคนที่สปอร์นเซอร์

Partner Visa ไม่เหมือนวีซ่านักเรียนหรือวีซ่าท่องเที่ยว

ทาง immigration ไม่ได้ดูที่ยอด balance statement ดังนั้นจึงไม่สำคัญว่าเราหรือคนที่สปอนเซอร์เรามียอดเงินในบัญชีเท่าไหร่

Partner Visa จะเน้นและโฟกัสไปที่ความรัก ความผูกพันและ relationship 

ไม่ใช่เรื่องของการเงิน หรือยอดเงินในบัญชี

ดังนั้นคนที่ขอเงิน central link ก็สามารถทำเรื่องสปอนเซอร์แฟนของตัวเองได้

หรือบางคนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ได้เปิดบัญชีที่ประเทศออสเตรเลียก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถใช้บัญชีธนาคารของประเทศนั้นๆที่เรากับแฟนไปอาศัยอยู่ เราไม่จำเป็นที่จะต้องมาเปิดบัญชีเพื่อที่จะทำ Partner Visa (มีก็ดี แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่)

เรากับแฟนของเราเคยใช้เงินด้วยกันยังไงก็ให้ใช้ไปตามปกติ ก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามปกติ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน lifestyle ของเราเพื่อที่จะทำ Partner Visa ไม่จำเป็น

เราเคยมีชีวิตยังไง ก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามปกติ ดำเนินชีวิตคู่นะครับไม่ใช่ ดำเนินชีวิตคนเดียว!!! 

ในส่วนของเรื่องการเงินแล้ว ขอเพียงเรากับแฟนเราสามารถโชว์ว่าเราสองคนใช้เงินร่วมกันยังไง หรือใครจ่ายอะไรมั่ง ในการจับจ่ายใช้สอย แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับหลักฐานการใช้เงินร่วมกัน หรือ financial commitment ที่คนสองคนมีต่อกัน

ดังนั้นเราไม่ต้องไป focus ที่ยอดเงินบัญชีหรือ balance ให้มากจนเกินไป

คนเรามีเงินในบัญชี $1 ก็สามารถ sponsor แฟนของตัวเองได้ (ทำผ่านมาแล้วจ๊ะ) ถ้าเขาสามารถพิสูจน์ว่าเขาสองคนรักกันจริง เป็น:

  • long-term relationship, 
  • genuine
  • continuing 

แค่นี้ก็พอแล้ว

Partner Visa, มีเงินบัญชี $1 เดียว ก็สามารถทำเรื่องสปอนเซอร์เอาแฟนหรือคู่รักของตัวเองมาที่ออสเตรเลียได้ครับ

Partner Visa, $1 เดียว ก็เสียวได้...

Tuesday, September 13, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Partner Visa สาวสมัยใหม่ สาว independent girl ไม่เกาะใครกิน


Partner Visa

มี LINE สอบถามมาจากเมืองไทย
พี่ผู้หญิงคนนี้คบกับแฟนซึ่งเป็นชาว Australian อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย
ในขณะที่ตัวของพี่เขาเองอยู่ที่เมืองไทย

พี่เขาสอบถามเรื่องการเก็บเอกสารที่จะต้องใช้ยื่นในการทำ Partner Visa
พี่เขาบอกว่า ตัวของพี่เค้าเองนั้นก็ทำงาน full time
ใช้เงินของตัวเอง ใช้เงินใครเงินมัน
พี่เขาอยากรู้ ว่าแบบนี้จะมีปัญหาในการขอ Partner Visa หรือเปล่า

เราก็ตอบไปว่า “พี่ครับสาวสมัยใหม่ สาว independent girl ไม่เกาะใครกินนะพี่

คู่รักของเรา การจับจ่ายใช้สอยเงินของเรา ไม่จำเป็นต้องเหมือนคู่ของคนอื่นนะครับ
เราใช้จ่ายเงินยังไง ก็ให้ตอบไปตามความเป็นจริง
ไม่ต้องโกหก (ผิดศีล) ไม่ต้องสร้างเรื่อง มันไร้สาระ
ความจริงเป็นยังไง ก็บอกอย่างนั้น
เพราะชีวิตคู่แต่ละคู่เป็นอะไรที่ unique และแตกต่างกันออกไป

ไม่ต้องฟังเพื่อน “หางอึ่ง” ให้มาก
ไม่จำเป็นต้องไปอ่านอะไรตาม web board หรือ forum ต่างๆจากพวก “พันถีบ”
มันไร้สาระ มันเปลืองสมอง

สมัยนี้ กาลเวลานี้ โลกมันเปลี่ยนไปแล้วจ๊ะ
อย่าลืมนะครับว่า “สาวสมัยใหม่ ไม่ควรเกาะใครกิน”

รั ก น ะ ถึ ง บ อ ก จุ๊...จุ๊...จุ๊...

Sunday, September 11, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่าขาด อย่าตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ


เราอยากจะลองถามทุกคนดูนะครับว่า หากมีใครคนใดคนหนึ่งรับทำการบ้านให้นักเรียน

เขาคนนั้นจะมี integrity หรือเปล่า
เขาคนนั้น dodgy มั๊ย

และในขณะเดียวกันก็คนคนเดียวกัน หรือหน่วยงานเดียวกันองค์กรเดียวกันนี่แหละ ก็รับทำหรือแอบอ้างสรรพคุณว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถ “ชุบผีให้เป็นคนได้”

คุณคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นหรือหน่วยงานหน่วยนั้น จะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

หน่วยงานที่เราพูดถึงนี้ดูจาก web page ของเขาแล้วน่าจะเป็นขบวนการแบบครอบครัวคือแม่กับลูก โลโก้ของเขาจะเป็นต้นไม้สีเขียวมีภาษาจีนเป็นสีเหลือง

บุคคลเหล่านั้นหรือองค์กรพวกนั้นอยู่ที่ Melbourne ครับ ได้โปรดพากันระวังด้วย ได้โปรดใช้วิจารณญาณของท่านด้วย ในการที่จะใช้บริการหรือว่า engage services ของพวกเขา


เพราะเขาอ้างว่าสำหรับคนที่วีซ่าขาด เขาจะช่วยขอ Protection Visa หรือวีซ่าลี้ภัยให้ หลังจากนั้นก็จะได้เป็น Bridging Visa C แล้วเขาก็บอกว่าสามารถอยู่ที่นี่ได้ถึง 2 ปีแล้วช่วง 2 ปีถ้าเผื่อหากไม่มีประวัติอะไรใดๆคุณจะสามารถได้ PR ได้เลย


เราต้องใช้วิจารณ์วิจารณญาณของเราด้วยนะครับว่า Protection Visa หรือวีซ่าลี้ภัยนั้นมีเอาไว้สำหรับคนที่ต้องการลี้ภัยจริง ๆ แสดงว่าชีวิตของเขานั้นไม่สามารถที่จะกลับไปที่ประเทศไทยได้ อาจจะเพราะว่ามีภัยที่คุกคามต่อชีวิตของเขา ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีสงครามดังนั้นการที่ใครจะมาขอลี้ภัยนั้นเป็นไปได้ยากมาก นอกเสียจากว่าคุณคนนั้นจะขอลี้ภัยทางการเมือง

การที่ใครจะขอลี้ภัยทางการเมืองเขาคนนั้นก็ต้องเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสูงในสังคมการเมือง หรือมีความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองอะไรสักอย่าง เขาต้องรู้สึกไม่ปลอดภัยถ้าจะกลับไปที่ประเทศไทย
การขอ Protection Visa นั้นไม่ผ่านแน่นอน ไม่ได้ PR แน่นอน แต่บางคนก็เลือกที่จะขอ เพียงเพราะเพื่ออต้องการที่จะซื้อเวลา เพื่อที่จะได้จัดการกับชีวิตของตัวเองเท่านั้น หรือสำหรับคนที่ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปประเทศไทย 

เราอยากจะให้ทุกคนมองโลกด้วยความเป็นจริง ไม่อยากให้เพ้อฝันอะไรลมๆแล้งๆ ชีวิตและบรรทัดฐานต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริง อย่าไปคาดหวังที่จะได้ PR จาก Protect Visa พราะเมืองไทยไม่ใช่ประเทศที่มีสงครามเหมือนพวก Middle East หรือประเทศอื่น ๆ 

แล้วที่บอกว่าถ้าเผื่อได้วีซ่ามาแล้ว อยู่ที่นี่ 2 ปีแล้วไม่มีประวัติอะไรใด ๆเลยคุณก็จะได้ PR นั้นไม่เป็นความจริงครับ เพราะว่าเราจะได้วีซ่าผู้ลี้ภัยนั้น ทางอิมมิเกรชั่นก็จะดูหรือคุณสมบัติของเราว่า เรา meet requirement ของ Protect Visa จริงไหม เราต้องการลี้ภัยจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เพียงแค่ว่าอยู่ที่นี่ 2 ปีแล้ว เป็นคนดี ไม่มีประวัติก็จะได้ PR เลย ถ้าเพื่อเป็นแบบนี้ทุกคนเขาก็คงมาขอ Protection Visa แล้วก็ได้ PR กันหมดแล้วหละ

กฎหมายมีเอาไว้เพื่อจัดระเบียบสังคม
กฎหมายไม่ได้มีเอาไว้ให้คนแหก

ส่วนคนที่แอบอ้างว่าสามารถช่วยท่านได้ นั่น นี่ โน่น 
ลองดู website ของเขา 
ลองดู page ของเขา 
ลองดู profile ของเขาด้วยว่า เขาและลูกมี MARN ที่ถูกต้องหรือเปล่า เขาจบกฎหมายของ Immigration ประเทศออสเตรเลียจากมหาลัยอะไร เพราะว่าที่ประเทศออสเตรเลียมีแค่ 4 มหาลัยเท่านั้นที่สามารถเรียนกฎหมายของ immigration ได้

ศึกษา รู้เท่าทัน
อยาตกเป็นเหยื่อของคนประเภทนี้
อย่าปล่อยให้เขาทำนาบนหลังเราได้...

Thursday, September 8, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่าขาด ข้อมูลจะถูกเก็บไว้แค่ 5 ปี จริงเหรอ


มีคนบอกว่าเขาเคยได้ยินคนอื่นพูดมาว่า

ถ้าวีซ่าขาดแล้ว immigration จะเก็บข้อมูลไว้แค่ 5 ปี แล้วหลังจากนั้น immigration จะมีการลบข้อมูลทิ้ง คนที่วีซ่าขาดจะไม่มีประวัติใดใดทั้งสิ้น

เราอยากจะบอกว่า ข้อมูลพวกนี้ไม่เป็นความจริงนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเราในเรื่องของ immigration ข้อมูลทุกอย่าง จะถือว่าเป็นประวัติหรือ records ติดตัวเราไปตลอดชีวิต

ทาง immigration จะไม่มีการล้างฐานข้อมูลหรือ clear ประวัติของใครใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นเวลาให้ข้อมูลหรือกรอกเอกสารของ immigration โดยเฉพาะตอนขอ PR ปกติแล้วมันจะมีคำถามว่าเราเคย overstay ไหม ดังนั้นคนที่วีซ่าขาดต้องตอบว่าเคย overstay นะครับ ต่อให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมาแล้วหลายหลายปีก็ช่าง เพราะว่าทาง immigration จะมี records ของเราทั้งหมดเลย ดังนั้นทุกอย่างเราต้องตอบให้ตรง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะมีความผิดโทษฐานให้ข้อมูลผิด หรือโกหกอิมมิเกรชั่น โดนแบน 3 ปีได้นะครับ

ประวัติทาง immigration จะเป็นอะไรที่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต

เปรียบเสมือนหนึ่ง ถ้าเราเคยเสียตัวให้ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะไปบอกคนอื่นว่าเรา virgin เราบริสุทธิ์ไม่ได้ ต่อให้เหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้ว 5 ปีก็ตามเถอะ

ดังนั้นการที่เราไปฟังคนอื่นพูดมาเราต้องดูด้วยนะครับว่าคุณจะพูดนั้นเป็นใคร อย่าเชื่อใคร อะไรง่ายๆเพียงเพราะว่าเขาคนนั้นเป็นเพื่อน

ตัวเราเองเราต้องศึกษาข้อมูลแล้วใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย เพราะเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเราจะไปบอกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลยมันเป็นไปไม่ได้มันไม่ make sense

วีซ่าขาดไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราต้องหมดหวังซะหน่อย
คนที่วีซ่าขาดก็ยังมีอีกหลายทางเลือกเยอะแยะ ขอเพียงเพื่อให้เขาปรึกษาผู้รู้ก็เป็นพอ

อย่าลืมนะครับว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้
ขอให้เราแก้ให้ถูกจุด

ค่อยๆแก้ไปไปทีละจุด เดี๋ยวทุกอย่างก็จะค่อยๆคลี่คลายและดีขึ้นเอง

Sunday, September 4, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Skill assessment ของสาขาอาชีพพยาบาล


Skilled Migrant Programme สาขาอาชีพพยาบาล หรือ Registered Nurse เป็นอีกสาขาอาชีพหนึ่งที่ถือว่าเป็นสาขาอาชีพที่มีความต้องการสูง เพราะเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา และประเทศออสเตรเลียเองก็ผลิตพยาบาลไม่พอตามความต้องการของคนไข้

การที่เราจะขอวีซ่า ขอ PR (Permanent Resident) ในตำแหน่งพยาบาล ภายใต้ Independent Skilled Migrant, subclass 189 นั้น นอกจากเราจะต้องนับ point ให้ได้ 60 points แล้ว เราจะต้องทำ skill assessment ให้ผ่านด้วย

หน่วยงานที่ทำ skill assessment ของสาขาอาชีพพยาบาลคือ Australian Nursing & Midwifery Accreditation Council; ANMAC 

เดี๋ยว blog นี้เราจะมาดูในเรื่องของรายละเอียดการทำ skill assessment กับ ANMAC กันนะครับ

เนื่องด้วยตำแหน่งงานในสาขาอาชีพพยาบาลมีหลายสาขามาก แต่ blog นี้เราขอ focus แค่ Registered Nurse ก็แล้วกัน ถ้าใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในสาขาอาชีพอื่น ก็เข้าไปดูข้อมูลกันได้ ที่ website ของ ANMAC ข้างบน

Requirement ในการทำ skill assessment ของ registered nurse:
1. ID ต่างๆ; passport, ใบเกิด ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อน)
2. ผลสอบภาษาอังกฤษ;  IELTS Academic, OET for Nurses, PTE Academic หรือ TOEFL iBT.

  • คนที่จะเป็นพยาบาลที่ออสเตรเลีย ภาษาอังกฤษต้องดี เพราะต้องพูดคุยและสื่อสารกับคนไข้และเพื่อนร่วมงาน และทำงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็น ความตายของคนไข้ ดังนั้น ANAMC จะรับผลสอบภาษาอังกฤษที่สอบผ่านทีเดียว หรือสอบ 2 รอบภายใน 6 เดือนเท่านั้น ANMAC จะไม่รับผลสอบของคนที่สอบภาษาอังกฤษบ่อยๆ ดังนั้นเราแนะนำให้คนที่มั่นใจจริงๆ พร้อมจริงๆ ถึงควรจะไปสอบภาษาอังกฤษ
  • IELTS Acamedic, overall 7, ทุกอย่างอย่างต่ำ 7 หรือถ้าสอบ 2 รอบภายใน 6 เดือน ทุกครั้งที่สอบต้องได้ overall 7 และทุกอย่างห้ามต่ำกว่า 6.5
  • OET; Occupational English Test, ต้องได้ทุกอย่าง อย่างต่ำ B, หรือถ้าสอบ 2 รอบภายใน 6 เดือน ทุกครั้งต้องสอบทั้ง 4 parts (พูด อ่าน เขียน ฟัง) และทุก part ห้ามต่ำกว่า C
  • PTE Acamedic (Pearson Test of English), overall 65 และต้องได้อย่างต่ำ 65 ทุกอย่าง หรือถ้าสอบ 2 รอบภายใน 6 เดือน overall ของแต่ละครั้งต้องได้อย่างต่ำ 65 และ ทุก part ห้ามต่ำกว่า 58
  • Test of English as a Foreign Language (TOEFL) iBT, overall 94 และคะแนนอย่างต่ำ: 24 ฟัง, 24 อ่าน, 27 เขียน, 23 พูด หรือถ้าต้องสอบ 2 รอบภายใน 6 เดือน คะแนน overall ต้องอย่างต่ำ 94 และทุกครั้งที่สอบ คะแนนของแต่ละ part ห้ามต่ำกว่า: 20 ฟัง, 19 อ่าน, 24 เขียน, 20 พูด

3. การศึกษา

  • ต้องได้มาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย
  • มีใบประกอบวีชาชีพพยาบาล และใบประกอบวิชาชีพพยาบาล ไม่ได้ออกโดย ANMAC นะครับ ใบประกอบวิชาชีพพยาบาลออกโดย AHPRA; Australian Health Practitioner Regulation Agency ผลสอบภาษาอังกฤษที่ใช้ในการขอใบประกอบวิชาชีพต้องเป็น IELTS Academic ทุกอย่าง อย่างต่ำ 7.0 หรือ OET เท่านั้น และมีผลใช้ได้แค่ 2 ปี (ซึ่งแตกต่างจากการนับ point ของอิมมิเกรชั่น ที่สามารถใช้ได้ถึง 3 ปี)
  • นักเรียนที่จบจาก Australia, Canada, New Zealand, Republic of Ireland, South Africa, United Kingdom or United States of America และใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ไม่จำเป็นต้องสอบ IELTS

4. ในระยะเวลา 5 ปีก่อนที่จะทำ skill assessment ผู้สมัครต้อง ทำงานในสาขาของพยาบาลมาแล้วอย่างต่ำ 1 ปีที่ออสเตรเลีย หรือ 3 ปีที่ต่างประเทศ (ประเทศใหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ประเทศออสเตรเลีย)

  • นักเรียนที่จบพยาบาลจากประเทศออสเตรเลีย หรือประเทศนิวซีแลนด์ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงาน ดังนั้นคนที่จบจากออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ก็จะมีข้อได้เปรียบนะครับ

5. ใบอนุญาติหรือใบประกอบวิชาชีพจากประเทศนั้นๆ ที่เราทำงานอยู่ ใบประกอบวิชาชีพต้องเป็นตัวจริง ANMAC จะไม่รับตัวถ่ายเอกสาร fax หรือ scan

Sunday, August 21, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย วีซ่าขาด ไม่พลาดเที่ยว


มีหลายคนเหลือเกินที่วีซ่าขาด แล้วก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียด้วยความหวาดผวา โดยที่ไม่จำเป็น

หวาดผวาเพราะอะไร??
เพราะความไม่รู้หรือเปล่า??
ฟังคนอื่นพูดมากเกินไปมั๊ย??

การเดินทางภายในประเทศนะครับ หรือการเดินทางแบบ domestic ต่อให้จะต้องเดินทางด้วยเครื่องบินอะไรก็เถอะ เราไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่านะครับ ขอเพียงแค่มี ID อะไรสักอย่างก็สามารถซื้อตั๋วเครื่องบิน และก็เดินทางได้แล้ว

ID ก็อาจจะเป็นพวก ใบขับขี่, passport หรือแม้แต่บัตรประชาชนไทยก็ได้ เพราะบัตรประชาชนไทยก็มีภาษาอังกฤษด้วย

หลายคนกลัวว่าถ้าให้ passport ไปแล้ว ทาง travel agent จะเช็คเรื่องวีซ่าของเรา 

หลายคนกลัวว่า เวลาโทรไป book ตั๋วเครื่องบิน ทาง travel agent จะเช็คข้อมูล หรือระบบคอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลเราเข้าไปที่อิมมิเกรชั่น อะไรทำนองนี้

แนะนำให้คิดใหม่นะครับ

เพราะการจองตั๋วของสายการบินภายในประเทศ ไม่มีการเช็ควีซ่านะครับ แตกต่างจากการจองตั๋วจากต่างประเทศแล้วบินเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย

travel agent ไม่เช็คหรอกว่าเรามีวีซ่าที่จะต้องใช้ในการเดินทางหรือเปล่า เพราะเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเช็ค และมันก็ไม่ใช่ธุระอะไรของ travel agent ด้วย

การเดินทางแบบ international travel จะแตกต่างจากการเดินทางแบบ domestic ตอนที่เราบินมาจากเมืองไทย หรือต่างประเทศเพื่อที่จะเข้ามาที่ประเทศออสเตรเลีย ทางสายการบินจะมีการเช็คว่าเรามีวีซ่าสามารถเข้ามาประเทศออสเตรเลียหรือเปล่า 

แต่สำหรับสายการบินภายในประเทศจะไม่มีการเช็ค ดังนั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวหรือหวาดผวา

ดังนั้น สำหรับคนที่วีซ่าขาดนะครับ เราแนะนำให้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เหมือนคนอื่นๆทั่วๆไป ถึงแม้ว่าวีซ่าเราขาด แต่เราไม่จำเป็นต้องขาดความเป็นคนนะครับ เราก็ต้องมีอารมณ์ที่แบบว่า อยากจะ enjoy life มั่ง ออกไป กิน เล่น เที่ยว มั่ง ชีวิตจะได้ balance

ก็อาจจะมีบ้างที่บางทีเจ้าหน้าที่ที่สนามบินมีการตรวจเช็คกระเป๋า หรือขอดู ID เรา นั่นก็เป็นแค่ routine check นะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเจ้าที่ที่ domestic airport จะเช็ควีซ่าเรา เขาไม่เช็คหรอก เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ domestic airport ก็แค่เช็คเรื่องความปลอดภัยแค่นั้นเอง ก็แค่ make sure ว่าเราไม่ได้หอบหิ้วอาวุธ หรือของมีคมขึ้นไปบนเครื่องบิน ก็แค่นั้นเอง

คนที่วีซ่าขาดไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่แบบหลบๆซ่อนๆนะครับ 

Time to live your life.
Go out and see the world... นะครับ

เอ๊ะ เดี๋ยวเราเปิดบริการรับจองตั๋วเครื่องบินสำหรับคนที่วีซ่าขาดดีมั๊ยเนี๊ยะ one-stop shop เลยนะ...

Wednesday, August 17, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Skilled Migrant นั้นง่ายจริงเหรอ



คำถามยอดฮิต... 

"Skilled Migrant นั้นง่ายจริงเหรอ"
"ถ้าง่ายแบบนี้คนเขาก็ขอกันหมดแล้วสิ"

อ๋อ คำถามแบบนี้เหรอจ๊ะ ขึ้นอยู่กับว่าคนถามใคร
ถ้าคุณถามเด็กเรียน เด็กหน้าห้อง เกรด A เกรดเฉลี่ย 4.00 (4.00 มีจริงจ๊ะ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่) เขาก็บอกว่าง่ายสิ เพราะเขาเรียนมาตรงสาขา เรียนวิศวะ เรียนหมอ เรียน IT เรียนบัญชี เรียนกฏหมาย อะไรก็ว่าไป

แต่ถ้าไปถามคนที่เขา เรียน college เรียนไปวันๆ เรียนอาทิตย์ละวัน ทำวีซ่ามาเพียงเพื่อจะทำงาน คำตอบมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น จะถามใคร ดูคนที่เราถามนิดหนึ่ง

ส่วนคนตอบเองก็อยากจะให้เปิดใจให้กว้างนิดนึง อย่าเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานไปซะทุกอย่าง
อย่าทำตัวเป็นกบในกะลา
อย่าทำตัวเป็นกบที่อยู่ในสระน้ำเล็กๆ


คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กนักเรียนที่เรียนที่ college นั้นไม่ดีนะครับ เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายของชีวิตไม่เหมือนกัน
แต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกัน
เพียงแต่ว่า จะถามใคร อะไร ก็เลือกกันนิดนึง ก็แล้วกัน


ไม่ว่าแต่ละคนจะมีจุดมุ่งหมายและความหวังอย่างไร เราก็ขอให้ทุกคนเดินไปให้ถึงฝั่งนะครับ

ไม่ว่าจะถึงจุดมุ่งหมายด้วยทางตรง หรือทางอ้อมชีวิตแต่ละชีวิตมีอุปสรรคและสิ่งที่ท้าทายอยู่แล้ว ขอเพียงแค่ให้จำไว้เสมอว่า “ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้” แค่นี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วครับ...

Sunday, August 14, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Skill assessment ของสาขาอาชีพครู


สาขาอาชีพครู เป็นอีกสาขาอาชีพหนึ่งที่อยู่ใน SOL ยกเว้นครูสอนประถมที่ไม่มีอยู่ใน list

นี่คือสาขาอาชีพครูที่อยู่ใน SOL นะครับ:

Early Childhood (Pre-Primary School) Teacher; ครูสอนเด็กประถมวัย
Secondary School Teacher;
ครูสอนมัธยม
Special Needs Teacher; ครูสอนเด็กพิเศษ ที่มีความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายและการเรียนรู้
Teacher of the Hearing Impaired; ครูสอนเด็กพิเศษ ที่มีความไม่สมบูรณ์ทางด้านหูหรือการฟัง
Teacher of the Sight Impaired; 
ครูสอนเด็กพิเศษ ที่มีความไม่สมบูรณ์ทางด้านสายตา

การทำ skill assessment ก็จะทำโดย AISTL; Australian Institute for Teaching and School Leadership ซึ่งก็เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลในเรื่องการทำ skill assessment ของสาขาอาชีพครู

ผลการทำ skill assessment สามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้ 2 ปี

Requirement ของการทำ skill assessment ก็จะมีคร่าวๆดังต่อไปนี้คือ
  • เรียนหลักสูตรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตร 4 ปี
  • ภาษาอังกฤษ IELTS ต้องเป็น Academic เท่านั้น, ตอนนี้ใช้ได้เฉพาะ IELTS นะครับ
  • IELTS ที่ใช้ จะใช้ได้แค่ภายใน 2 ปีหลังจากวันที่สอบไม่เท่านั้น (requirement ตรงนี้จะแตกต่างจาก requirement ของกระทรวงอิมมิเกรชั่น เพราะกระทรวงอิมมิเกรชั่นสามารถใช้ผลสอบภาษาอังกฤษในการนับ point ได้ถึง 3 ปี)
  • ผลสอบ IELTS Academic ต้องได้อย่างต่ำ 7.0 สำหรับ Reading และ Writing, อย่างต่ำ 8.0 สำหรับ Speaking และ Listening.
  • จดหมายจากมหาลัยว่าเราได้ทำการฝึกสอนมาแล้วกี่วัน
  • ต้องกรอกใบสมัครเป็น paper-based application ทำ online ไม่ได้

Requirement ปลีกย่อยแต่ละสาขา

Early Childhood (Pre-Primary School) Teacher:
  • ต้องผ่านการฝึกสอนอย่างต่ำ 45 วัน สำหรับเด็กประถมวัย อายุไม่เกิน 8 ขวบ

Secondary School Teacher:
  • ต้องผ่านการฝึกสอนอย่างต่ำ 45 วัน สำหรับเด็กนักเรียนมัธยม อายุระหว่าง 13-18 ปี

Special Needs Teacher:
  • ช่วงที่เรียนหลักสูตรการศึกษา ต้องมีการฝึกสอนแบบทั่วไปอย่างต่ำ 45 วัน แล้วหลังจากนั้นเรียนเฉพาะทาง ทางด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนพิเศษ special needs อีก 1 ปี หรือเรียนหลักสูตรการศึกษา ป.ตรี ที่มีรายวิชาการศึกษาเฉพาะทางของเด็กนักเรียนพิเศษอย่างน้อย 1 ปี และฝึกสอนเด็กนักเรียนพิเศษอย่างต่ำ 45 วัน

Teacher of the Hearing Impaired:
  • ช่วงที่เรียนหลักสูตรการศึกษา ต้องมีการฝึกสอนแบบทั่วไปอย่างต่ำ 45 วัน แล้วหลังจากนั้นเรียนเฉพาะทาง ทางด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนพิเศษ และมีการฝึกสอนอย่างต่ำ 30 วันกับเด็กนักเรียน hearing impaired หรือเรียนหลักสูตรการศึกษา ป.ตรี ที่มีรายวิชาการศึกษาเฉพาะทางของเด็กนักเรียนพิเศษอย่างน้อย 1 ปี และฝึกสอนเด็กนักเรียน hearing impaired อย่างต่ำ 45 วัน

Teacher of the Sight Impaired:
  • ช่วงที่เรียนหลักสูตรการศึกษา ต้องมีการฝึกสอนแบบทั่วไปอย่างต่ำ 45 วัน แล้วหลังจากนั้นเรียนเฉพาะทาง ทางด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนพิเศษ และต้องมีการฝึกสอนอย่างต่ำ 30 วันกับเด็กนักเรียน sight impaired หรือเรียนหลักสูตรการศึกษา ป.ตรี ที่มีรายวิชาการศึกษาเฉพาะทางของเด็กนักเรียนพิเศษอย่างน้อย 1 ปี และฝึกสอนด็กนักเรียน sight impaired อย่างต่ำ 45 วัน


Thursday, July 28, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย 8534, 8503 case ไม่เหินฟ้า แต่ไปลั๊ลล๊าประเทศอื่น


case นี้ก็เป็นอีก case หนึ่งที่วีซ่านักเรียนของน้องคนหนึ่งติด condition 8534 และน้องต้องการที่จะทำวีซ่า subclass 457 เพื่อติดตามแฟน

วีซ่านักเรียนของน้องยังเหลืออีกยาวมาก ถึงปีหน้า

อย่าลืมนะครับว่าวีซ่า subclass 457 ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดแล้ว ผลน่าจะออกประมาณ 6-8 weeks หลังจากที่ยื่น

เนื่องด้วยวีซ่านักเรียนของน้องยังเหลืออีกเยอะ น้องสามารถเดินทางเข้าออกประเทศออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียนได้ และตัวน้องกับแฟนเองก็กำลังอยากจะกลับไปเมืองไทยพอดี ก็เลยเป็นอะไรที่เหมาะเจาะและลงตัวคือ น้องบินออกไปข้างนอก แล้วเราก็ยื่นเรื่องติดตามของวีซ่า subclass 457 ให้น้อง

พอยื่นเรื่องเสร็จ น้องก็สามารถบินกลับมาด้วยวีซ่านักเรียน เพราะวีซ่านักเรียนของน้องยังเหลือเยอะ พอบินกลับเข้ามาก็มารอวีซ่า subclass 457 ออก เพราะวีซ่า subclass 457 ไม่ว่าเราจะยื่นเป็น offshore หรือ onshore เราสามารถรอวีซ่าอยู่ที่ใหนก็ได้ รอได้ทั้ง offshore และ onshore เช่นเดียวกัน 

case นี้เราไม่ได้ submit online เหินฟ้า เหมือน case อื่นๆ เพราะเวลาไม่ลงตัว แต่น้องก็เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่เช้า เพราะได้ flight บินตอนเช้า และแอบไปแวะเที่ยวที่ต่างประเทศก่อน 1 วันก่อนจะเดินทางต่อไปเมืองไทย

ในระหว่างที่น้องไป sweet กัน ลั๊ลล๊ากันอยู่ที่ต่างประเทศ เราก็ยื่นเรื่อง submit online ให้น้อง

อย่างที่เราได้เคยเขียนไว้ใน blog และใน post ต่างๆตาม social page ว่า ถ้าวีซ่าเราติด condition 8503 หรือ 8534 เราไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องมาจากเมืองไทยที่เดียว 

คำว่า offshore คือยื่นเรื่องหรือ submit เรื่องตอนที่เจ้าตัวอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นเจ้าตัวจะไปอยู่ประเทศใหนก็ได้ ขอให้ออกจากประเทศออสเตรเลียไป หรือจะออกไปน่านน้ำสากล ล่องเรือสำราญก็สามารถทำได้

อย่าลืมนะครับ คำว่า offshore แค่เรา scan passport ที่ custom ก็ถือว่าเราออกไปเป็น offshore แล้ว

case นี้ก็เป็นอีก case หนึ่งที่เราทำให้น้องแบบว่าน้องแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ทุกอย่าง just leave it to us... 

น้อง 2 คนก็ไปเริงร่าอยู่ต่างแดน ในระหว่างที่เราเรื่องให้ ง่ายดีออก...

Sunday, July 24, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย code of conduct ข้อมูลของลูกค้าถือว่าเป็นความลับ


ทนายความหรือ immigration agent เรามี code of conduct ที่จะต้องดูแลลูกค้า และรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า


ทนายความหรือ immigration agent เราทำงานให้กับลูกค้าเท่านั้น เราไม่ได้ทำงานให้กับ immigration หรือหน่วยงานของรัฐบาล


ดังนั้นใครที่มีปัญหาอะไรสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแต่ที่เกี่ยวกับ immigration หรือปัญหาทางด้านวีซ่าของคุณ


หลายคนที่อยู่ที่นี่โดยผิดกฏหมาย ไม่มีวีซ่าที่ถูกต้อง ก็ปรึกษาเราได้นะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะโทรไปแจ้ง immigration เพื่อที่จะให้ immigration มาจับคุณ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา อย่างที่เราบอกเอาไว้เบื้องต้นแล้วว่า หน้าที่ของเรามีหน้าที่ดูแลและรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า ข้อมูลของลูกค้าทุกอย่างถือว่าเป็นความลับ ถือว่าเป็น confidential


หรืออาจจะมีอีกหลายกรณีในลักษณะที่ว่า คุณมีเพื่อนที่ใช้ทนายความหรือ immigration agent คนเดียวกันกับคุณ เราก็อยากจะบอกว่า ข้อมูลของลูกค้าทุกอย่างถือว่าเป็นความลับ เราจะไม่เอาข้อมูลของลูกค้ามาแชร์กับลูกค้าคนอื่นๆ


ดังนั้นใครที่มีเพื่อนที่ใช้ทนายความหรือ immigration agent คนเดียวกัน ก็ไม่ต้องมีอะไรที่จะต้อง worries ว่าทนายความหรือ immigration agent คนนั้นจะเอาข้อมูลของเราไปแชร์กับเพื่อนของเราอีกคนหนึ่ง


ทนายความหรือ immigration agent เราทำงานเป็น professional เราไม่ใช่พวก gossip ซุบซิบนินทาไร้สาระ ดังนั้น อยากจะให้ทุกคนที่มาใช้บริการ สบายใจได้เลยว่า ข้อมูลของคุณได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ไม่มีการเอาข้อมูลของคุณไปแชร์กับใครคนอื่นแน่นอน เพราะว่าทนายความหรือ immigration agent เรามี code of conduct ที่เราต้อง follow อยู่แล้วถ้าเผื่อเราไม่ follow code of conduct เราก็ไม่สามารถที่จะต่อ licence หรือใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งการต่อ licence หรือใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพนี้เราต้องต่อกันทุกๆปีอยู่แล้ว

วีซ่าออสเตรเลีย case เหินฟ้า


เราก็มี case อยู่ case 1 นะครับที่เรายื่นเรื่องให้น้องคนนึงในขณะที่น้องเขาอยู่บนฟ้า

เรื่องก็มีอยู่ว่า...

visa ของน้องคนนี้ติด condition 8534 คือน้องเขาไม่สามารถที่จะยื่นวีซ่า onshore ในประเทศออสเตรเลียได้ ดังนั้นน้องเขาก็ต้องเดินทางออกไปนอกประเทศเพื่อที่จะยื่นวีซ่าตัวใหม่เป็น offshore


อย่าลืมนะครับคำว่า offshore เนี่ยไม่จำเป็นต้องยื่น case ที่เมืองไทยนะครับ ยื่นที่ไหนก็ได้ ขอเพียงแต่ว่าต้องให้ยื่นวีซ่าตอนที่เราอยู่นอกประเทศของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น


แล้วคำว่า offshore อยู่นอกประเทศ จริงๆแล้วตัวเราเป็นๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่นอกประเทศออสเตรเลียจริงๆนะครับ ขอเพียงแค่เรา scan passport ของเราผ่าน custom ผ่าน ต.ม. เราก็ถือว่าตามกฎหมายแล้วเราอยู่นอกประเทศออสเตรเลียแล้ว ถึงแม้ว่าตัวเรานะตอนนั้นจะยังอยู่ที่สนามบินก็ตามเถอะ


OK กลับเข้ามาเรื่องของน้องคนนี้ดีกว่า เรื่องก็มีอยู่ว่า น้องเขาเป็นเจ้าของร้านนวด ไม่สามารถที่จะเดินทางไปไหนได้นานๆ เพราะว่าน้องต้องอยู่ดูแลร้านด้วย น้องเลือกที่จะเดินทางออกไปข้างนอกเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา เครื่องออกตอน 6:45 pm พอน้อง scan passport ผ่าน ต.ม. หรือ custom ที่สนามบิน Sydney น้องก็ LINE มาบอกว่าตอนนี้น้องอยู่ในสนามบินแล้ว เราก็เตรียมตัวยื่นเรื่องให้น้องทัน online


แต่เราก็ไม่ได้ยื่นเลยทันทีหรอกนะครับ เราก็แบบว่ารอทานข้าวเสร็จ ทำนั่นนี่นู่น ธุระส่วนตัวตอนเย็นให้เสร็จก่อนแล้วเราก็ยื่นให้น้องประมาณ 2 ทุ่ม (8pm) อะไรประมาณเนี้ยะ ซึ่งก็หมายความว่า เรา submit case ให้น้องเขาตอนที่น้องเค้าอยู่บนฟ้า ซึ่งก็เป็น case อีก case 1 คล้ายๆกับของน้องอีกคนนึงที่เขาก็บินออกไปข้างนอกแล้วเราก็ submit case ให้เขา ตอนที่น้องเค้าอยู่บนฟ้าเหมือนกันเราก็เลยเรียก case พวกนี้ว่าเป็น case “เหินฟ้า”


สรุปก็คือเรา submit case ให้น้องเขาไปเสร็จแล้วเรียบร้อยก่อนที่น้องเขา ท้าวจะแตะพื้นที่เมืองไทยด้วยซ้ำ


อย่าลืมนะครับว่าการยื่น offshore ไม่จำเป็นต้องกลับไปยื่นที่เมืองไทยเท่านั้น ถ้าเราใช้ทนายความหรือ immigration agent เขาก็สามารถ submit หรือว่ายื่นเรื่องให้เราได้ ตอนที่เรา scan passport ผ่าน costom ตรงที่สนามบินได้นะครับ ดังนั้นการที่เรา submit case ต่างๆตอนที่น้องเขาอยู่บนฟ้านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ


ตอนนี้น้องก็เหลือแค่ทำ finger scan ที่เมืองไทยเสร็จแล้วน้องก็จะบินกลับมาวันอังคาร เพื่อรีบที่จะกลับมาดูแลร้านของน้องต่อไป แล้วก็รอวีซ่าที่กำลังจะออก...

Friday, July 22, 2016

วีซ่าออสเตรเลีย Skill assessment ของสาขาอาชีพทางด้าน IT


IT เป็นสาขาที่นักเรียนต่างหลายๆชาติเลือกเรียนกัน โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติจากประเทศไทย จีน และอินเดีย

สาขาวิชาอาชีพทางด้าน IT เป็นอะไรที่ boom นะครับ เพราะโลกเราทุกวันนี้อะไรก็ใช้เทคโนโลยีกันไปหมด ดังนั้นสาขาอาชีพทางด้าน IT จึงเป็นที่ต้องการของทั่วโลกเลย ไม่เฉพาะประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นถ้าใครเรียนจบมาทางด้านนี้ โอกาสที่จะขอวีซ่า และขอ PR ภายใต้ Skilled Migrant ของประเทศออสเตรเลียจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก

ก็อยากจะให้ทุกคนลองศึกษาวิชาเรียนในสาขาอาชีพ IT กันให้ดีๆนะครับ เพราะเราคิดว่าสาขาอาชีพนี้ยังจะอยู่ได้ไปอีกนานและไกล

เดี๋ยว blog นี้เรามาทำความรู้จักกับหน่วยงานที่ทำ skill assessment ของสาขาอาชีพ IT กันนะครับ หน่วยงานที่ว่านี้ก็คือ Australian Computer Society; ACS.

ACS เป็นหน่วยงานที่ทำ skill assessment ให้กับ skill migrant; subclass 189, 190 และก็ subclass 485 ด้วย (สาขาอาชีพที่อยู่ใน SOL):

261111 - ICT Business Analysts
261112 - Systems Analysts
261311 - Analyst Programmer
261312 - Developer Programmer
261313 - Software Engineer
263111 - Computer Network and Systems Engineer


นอกจากนั้นแล้ว ACS ก็ยังทำ skill assessment ให้กับวีซ่าที่มีนายจ้างสปอนเซอร์ด้วย; subclass 457, 186 และก็ 187 (สาขาอาชีพที่อยู่ใน CSOL):

135111 - Chief Information Officer
135112 - ICT Project Manager
135199 - ICT Managers NEC
223211 – ICT Trainer
261111 - ICT Business Analysts
261112 - Systems Analysts
261211 - Multimedia Specialist
261212 - Web Developer
261311 - Analyst Programmer
261312 - Developer Programmer
261313 - Software Engineer
261314 - Software Tester
261399 - Software and Application Programmer
262111 - Database Administrator
262112 - ICT Security Specialist 
262113 - Systems Administrator
263111 - Computer Network and Systems Engineer
263112 - Network Administrator
263113 - Network Analyst
263211 - ICT Quality Assurance Engineer
263212 - ICT Support Engineer
263213 - ICT Systems Test Engineer
263299 - ICT Support and Test Engineer NEC
313113 - Web administrator 

จะสังเกตุว่าสาขาอาชีพที่อยู่ใน CSOL จะมีมากกว่า SOL นะครับ

การทำ skill assessment ของ general skill migrant (subclass 189 & 190) จะไม่เหมือนกับการทำ skill assessment ของ subclass 485

การทำ skill assessment ของ ACS จะไม่มี requirement ในส่วนของภาษาอังกฤษ

การที่ skill assessment ของเราจะผ่านก็ต่อเมื่อรายวิชาที่เราเรียนใน transcript นั้น ต้องเป็นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ IT และ 65% ของรายวิชาต่างๆที่อยู่ใน transcript ต้องมีความใกล้เคียงกับ สาขาอาชีพหรือตำแหน่งงานที่เราเลือกทำ skill assessment เราต้องเลือกสาขาอาชีพให้ตรงกับที่เราเรียนให้มากที่สุดนะครับ เพราะสาขาอาชีพทางด้าน IT นั้นเยอะมาก อย่างที่เห็นตามด้านบน


Temporary Graduate; Subclass 485
สำหรับคนที่ต้องการทำวีซ่า subclass 458 ซึ่งปกติก็ต้องเป็นเด็กนักเรียนที่เรียนที่ประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว ถึงจะสามารถขอวีซ่า subclass 485 การทำ skill assessment ของคนที่ต้องการทำวีซ่า subclass 485 นั้นทำได้ง่ายๆนะครับ คือแค่เอาใบจบ ป.ตรีหรือสูงกว่า จากมหาวิทยาลัยที่นี่และก็ transcript แล้วยื่นมาที่ ACS แค่นี้ก็ทำ skill assessment ผ่านแล้วครับ เพราะว่ามหาวิทยาลัยที่นี่ ยังไงก็ต้องได้มาตรฐานของ ACS อยู่แล้ว

Skilled Migrant; subclass 189 & 190
สำหรับนักเรียนที่เรียนจบที่ประเทศออสเตรเลีย ป.ตรีหรือสูงกว่า ก็สามาถทำเป็น "Post Australian Study Skill Assessment" ได้เลย นี่แหละข้อดีของการจบที่ประเทศออสเตรเลีย


  • การทำ skill assessment สำหรับคนที่จบที่ออสเตรเลียก็เอาแค่ ประสบการณ์การทำงาน 1 ปีหลังจากที่เรียนจบทันที หรือทำ Professional Year กับ ACS แค่นี้ก็ทำ skill assessment ผ่านแล้ว
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำ Professional Year  หรือไม่มีประสบการณ์การทำงาน 1 ปีหลังจากที่เรียนจบทันที ก็สามารถทำ skill assessment ได้เหมือนกัน แต่จะมี requirement ที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับคนที่จบ ป.ตรีหรือสูงกว่า:


  • สำหรับคนที่จบ ป.ตรีหรือสูงกว่า ถ้าเรียน IT เป็น major และสาขาวิชาที่เรียนมาก็ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 2 ปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือ 4 ปีของชีวิตการทำงาน


  • สำหรับคนที่จบ ป.ตรีหรือสูงกว่า ถ้าเรียน IT เป็น major แต่สาขาวิชาที่เรียนมาไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 4 ปีของชีวิตการทำงาน



  • สำหรับคนที่จบ ป.ตรีหรือสูงกว่า ถ้าเรียน IT เป็น minor และสาขาวิชาที่เรียนมาก็ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 5 ปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือ 6 ปีของชีวิตการทำงาน


  • สำหรับคนที่จบ ป.ตรีหรือสูงกว่า ถ้าเรียน IT เป็น minor แต่สาขาวิชาที่เรียนมาไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 6 ปีของชีวิตการทำงาน

สำหรับคนที่เรียนจบมาทางด้าน Diploma, Advanced Diploma หรือ Associate Degree:
  • สำหรับคนที่เรียนจบมาทางด้าน Diploma, Advanced Diploma หรือ Associate Degree ถ้าเรียน IT เป็น major และสาขาวิชาที่เรียนมาก็ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 5 ปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือ 6 ปีของชีวิตการทำงาน

  • สำหรับคนที่เรียนจบมาทางด้าน Diploma, Advanced Diploma หรือ Associate Degree ถ้าเรียน IT เป็น major แต่สาขาวิชาที่เรียนมาไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่จะขอวีซ่า ก็ต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างต่ำ 6 ปีของชีวิตการทำงาน